วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ป.ป.ช.-แบงก์ชาติ’ ขวากหนาม‘เพื่อไทย’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ป.ป.ช.-แบงก์ชาติ’ ขวากหนาม‘เพื่อไทย’

พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลมี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ชูธงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย มาตรการแจกเงินคนไทยทุกคน คนละ 1 หมื่นบาทแบบรวดเดียวจบ จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่า จะเดินหน้าต่ออย่างไร???

ปมปัญหาอยู่ตรงที่จะต้องกู้เงินมาแจกชาวบ้านให้จับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคนั้น ต้องใช้เงินกู้มากถึง 5 แสนล้านบาท แม้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า เม็ดเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ จะช่วยให้จีดีพี.โตราว 5% เป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจเติบโตไปข้างหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่นโยบายนี้ออกมา มีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงไม่เห็นด้วย คนแรกๆ และแข็งขันที่สุด น่าจะเป็น “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ที่เห็นว่า การกู้เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้จะต้องก่อหนี้มหาศาล ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นภาระลูกหลานในอนาคต

“ดร.เศรษฐพุฒิ” ยังตอกย้ำอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภค จะได้ผลแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น อีกทั้งตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเติบโตแต่เป็นการเติบโตอย่างช้าๆ เนื่องมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโตค่อนข้างช้า แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต พร้อม มีข้อเสนอแนะเปิดทางถอยให้รัฐบาล ว่า ควรจะแจกแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง จะใช้เงินราวแสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่ถึง 5 แสนล้านบาทตามที่รัฐบาลตั้งไว้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

จุดนี้กลายเป็นชนวนเกิดการปะทะทางความคิด ระหว่าง แบงก์ชาติ กับ พรรคเพื่อไทย กรณีดิจิทัล วอลเล็ต กระทั่งลามมาถึงกรณี ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่า เศรษฐกิจประเทศกำลังเข้าขั้นวิกฤตแล้ว สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 35 เดือน แบงก์ชาติที่ดูแลนโยบายการเงิน ควรจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้ต้นทุนการทำธุรกิจถูกลง และช่วยแบ่งเบาภาระคนเป็นหนี้จากหนักเป็นเบาได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง

ขณะที่แบงก์ชาติกลับเห็นต่างและยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ แต่เป็นไปอย่างช้าๆ ยังไม่ควรเร่งลดดอกเบี้ยนโยบายลงซึ่งอัตรา 2.5% ถือว่าอยู่ในจุดที่เหมาะสม และต้องเก็บกระสุนไว้ใช้หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้ง กรณี “ดิจิทัลวอลเลต” และเรื่อง “ดอกเบี้ยนโยบาย” กลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง “รัฐบาล” และ “แบงก์ชาติ” ได้ปรากฏตามหน้าสื่อทุกวัน ไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น บรรดาสื่อยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ ทั้งสำนักข่าวชื่อดังของสหรัฐอย่าง “บลูมเบิร์ก” หรือ “ไฟแนลเชี่ยลไทม์” สำนักข่าวเศรษบกิจชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ ต่างก็พากันพาดหัวข่าวความขัดแย้งระหว่าง “นายกฯ” กับ “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” พร้อมฟันธงว่า จะทำให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกิดความสับสนได้

ด้านหนึ่ง “เพื่อไทย” เปิดศึกกับ “แบงก์ชาติ” ตรงๆ แบบไม่ต้องเกรงใจกัน แต่อีกด้านหนึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเลตของ “เพื่อไทย” กำลังเผชิญศึกหนักอีกด้าน นั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศึกนี้น่าจะหนักหน่วง เพื่อไทยเองก็เคยเจออิทธิฤทธิ์จากนโยบายจำนำข้าวมาแล้ว

ล่าสุด ป.ป.ช.ทำบันทึกเสนอแนะรัฐบาล มีประเด็นเสี่ยง 4 ข้อ 1.เสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย 2.เสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ผลกระทบ ภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต 3.เสี่ยงด้านกฎหมาย จะต้องตระหนัก ใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย 4.ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

ขณะที่มี 8 ข้อเสนอแนะ เช่น รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่ารายย่อย อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย

การหาเสียงของ “พรรคเพื่อไทย” ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กับตอนเป็นรัฐบาล โครงการมีความแตกต่างกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย เป็นต้น

แม้ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไม่ได้ห้าม เป็นแค่คำทักท้วง แต่เชื่อว่า หากเพื่อไทยเดินหน้าต่อ ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขให้มีการนำเรื่องนี้ร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอย “จำนำข้าว” ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้ ยิ่ง “หัวเรือใหญ่” ที่อยู่ในอนุกรรมการป.ป.ช.ที่ศึกษาเรื่องนี้ เป็นชุดเดียวกับที่ทำคดีเรื่องจำนำข้าว โอกาสที่จะเกิดซ้ำรอย ก็เป็นไปได้สูง

นโยบายดิจิทัล วอลเลต ตอนนี้ตกอยู่ในสภาพ เดินหน้าก็ลำบาก-ถอยหลังก็ไม่ได้ ชักตื้นติดกึก-ชักลึกติดกั๊ก เป็นความลำบากใจของ “เพื่อไทย” อย่างมาก แรกๆ เจอแรงต้านจาก “แบงก์ชาติ” ก็ไม่สนใจถือว่าข่มกันได้ แม้ว่าจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ แต่พอมาเจอมวยหมัดหนักแบบ “ป.ป.ช.” ตอนนี้ต้องบอกว่า รัฐบาลก็คงต้องคิดหนัก

“พรรคเพื่อไทย” เจอดอกนี้เข้าไป ต้องอยู่ในภาวะที่กล้ำกลืน จะเดินหน้าก็เจอขวากหนาม ทั้งเสียงเตือนจากแบงก์ชาติและป.ป.ช. แต่จะถอยก็ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายหาเสียง เป็น 1 ในเรือธง จะต้องเดินหน้าต่อไป

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img