วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เรือไฟฟ้านำเที่ยว”ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมแม่น้ำลำคลอง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เรือไฟฟ้านำเที่ยว”ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมแม่น้ำลำคลอง

ราคาน้ำมันแพง และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายภาคส่วนต้องผลักดันไปสู่ ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อมาตอบโจทย์สองปัญหานี้ ไม่เฉพาะระดับชาติที่มี นโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในระดับท้องถิ่นก็เอาด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะ ภาคการท่องเที่ยวทางน้ำ ยุคนี้ยิ่งได้ชื่อการท่องเที่ยวสีเขียว (Green tourism) ยิ่งได้ใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เขานำเรือไฟฟ้าออกวิ่งล่องคลองรับนักท่องเที่ยวหลายลำแล้ว โดยเฉพาะคลองแควอ้อม ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวกันไม่น้อยในแต่ละวัน แรงผลักดันสำคัญในการใช้เรืออีวีของที่นี่ เทน้ำหนักไปอยู่ที่การแก้โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเรือไฟฟ้าช่วยปิดจุดเจ็บปวดของอัมพวา ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวทางน้ำที่บูมจัด มาจากเสียงเรือเครื่องดีเซลที่แล่นไปมาไป กระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมถึงคลื่นจากเรือที่ไปกระทบฝั่งทำให้ตลิ่งพัง ซ้ำร้ายควันจากเรือเครื่องยังทำให้หิ่งห้อยตัวชูโรงการท่องเที่ยวอัมพวายามค่ำคืนหายไปในหลายๆจุด เพราะหิ่งห้อยอ่อนไหวต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจชุมชนดี ไม่มีใครเถียง ชาวบ้านก็อยากได้ แต่ผลของการท่องเที่ยวที่บูมมาก ก็สะท้อนกลับทำให้ “เสน่ห์อัมพวา” หายไป ทำยังไงให้การท่องเที่ยวมาพร้อมกับการรักษาสภาพแวดล้อมได้ด้วย “เรือไฟฟ้า” ก็เลยเป็นพระเอก ซึ่งไม่ใช่เรือที่เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่เป็นไฮบริด หมายความว่านอกจากใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนเรือแล้ว บนหลังคาเรือยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าให้เรือ เซฟแบตเตอร์รี่เรือไว้ในตอนกลางคืน แต่ของดีต้องลงทุน 3 แสนกว่าบาทต่อลำ ยากที่ชาวบ้านจะทำได้

งานนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็เลยเข้ามาช่วย ภายใต้ “โครงการพัฒนานโยบายและมาตรการส่งเสริมเรือไฟฟ้าขนาดเล็ก” ที่จะทำทั้งเรือที่ใช้สัญจรในตลาดน้ำ เรือสัญจรขนาดเล็ก เรือประมงขนาดเล็ก และเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก ปลายทางจะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในการดัดแปลงเรือให้เป็นเรือไฟฟ้าเป็น ดำเนินการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผลการศึกษาจากโครงการนำร่องดังกล่าวจะนำไปจัดทำแผนนโยบาย และมาตรการส่งเสริมเรือไฟฟ้าในอนาคต

วันก่อนเราได้ไปนั่งเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าด้วยตัวเอง พบว่า เรือไฟฟ้าเงียบจริง คลื่นน้อยจริง ควันน้อยจริง โดยตอนนี้ “พพ.” ได้ทำเรือต้นแบบขึ้นมาทดสอบวิ่ง เพื่อเก็บข้อมูลว่าเวิร์กหรือไม่ เป็น “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลง” สำหรับแม่น้ำวิ่งที่คลองแควอ้อม “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” อธิบดี พพ. เล่าว่า เรือลำนี้ทำจากไม้กินน้ำลึก 0.4 เมตร น้ำหนักรวมบรรทุก 2.6 ตัน มีความเร็วทำการ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางที่ใช้งานได้อยู่ที่ 15 กิโลเมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 18 กิโลวัตต์ ชนิดแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุแบตเตอรี่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เข้าไปด้วย ขนาด  1.8 กิโลวัตต์ ใช้ระยะเวลาในการชาร์จ 6-8 ชั่วโมง ก่อนดัดแปลงนั้นเรือลำนี้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 10.5 บาท/กิโลเมตร หลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.35บาท/กิโลเมตร สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 8.15 บาท/กิโลเมตร ที่สำคัญอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ จากเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยอยู่ 0.945 kgCO2/กิโลเมตร

นอกจากโครงการนี้แล้ว “พพ.” ยังได้ศึกษา “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับชายฝั่ง” ด้วย ซึ่งได้ผลดีเช่นกัน ก่อนดัดแปลงมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 12.9 บาท/กิโลเมตร หลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.5 บาท/กิโลเมตร อนาคตจะมีการผลักดันให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้า เพื่อการท่องเที่ยวสีเขียวต่อไป

ได้คุยกับ “เอกชัย เทียนไชย” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.บ้านปราโมทย์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม คนขับเรือและเป็นเจ้าของเรือนำเที่ยวไฟฟ้าต้นแบบ บอกว่า เรือไฟฟ้าช่วยลดต้นทุน ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่ต้องมีมลพิษ คลองแควอ้อม เป็นคลองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้วด้วย จังหวัดไม่ให้ใช้สารเคมีทางการเกษตร จึงเป็นคลองที่ยังมีหิ่งห้อยหลงเหลืออยู่ให้นักท่องเที่ยวชม ยิ่งเหมาะสมในการนำเรือไฟฟ้ามาใช้ เพราะหิ่งห้อยอ่อนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นตัวชี้วัดแม่น้ำ และอากาศ หากสิ่งแวดล้อมดีใน 45 วันก็จะมีลูกหิ่งห้อยเกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้หิ่งห้อยไม่หายไป ขณะที่คลองอื่นแทบไม่มีหิ่งห้อยเหลืออยู่แล้ว อีกอย่างลดต้นทุนค่าน้ำมันด้วย เราก็สามารถไปลดค่านั่งเรือกับนักท่องเที่ยวได้ จากปกติ 2,300-2,500 บาท อาจเหลือ 1,500 บาท ดังนั้นเรือไฟฟ้าจึงช่วยลดต้นทุนให้เจ้าของเรือ ลดต้นทุนสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนให้นักท่องเที่ยวด้วย ผลที่สุดนักท่องเที่ยวก็จะกลับมาเที่ยวซ้ำ อีกหน่อยเชื่อว่าเจ้าของเรือนำเที่ยวจะหันมาใช้เรือไฟฟ้ากันมากขึ้นแน่นอน

ไม่เฉพาะส่งเสริมเรือไฟฟ้านำเที่ยวตามลำคลองในจังหวัดต่างๆ อย่างเดียว หลายภาคส่วนก็ส่งเสริมเรือโดยสารไฟฟ้าในกทม.ด้วย ซึ่ง “กรมเจ้าท่า” ได้ร่วมกับภาคเอกชนเปิดเส้นทางเดินเรือโดยสารไฟฟ้า 5 เส้นทางแล้ว เช่น เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทำร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA โดยใช้เรือขนาดความยาว 23.97 เมตร รองรับคนโดยสารได้จำนวน 250 คน ใช้แบตเตอรี่ขนาด 768 Kw.hr สามารถทำความเร็วได้ 16 นอต (29.6 กม./ชม.) ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้จำนวน 262,800 ลิตร/ปีเลยทีเดียว

“อีวี” มาแรงและมาเร็ว ปีนี้ EA เอกชนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอีวี วางงบลงทุนรวมไว้ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท มุ่งขยายกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่จาก 1 กิกะวัตต์ เป็น 2 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 46% ของงบลงทุนทั้งหมด ที่เหลือจะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า 13% การลงทุนในธุรกิจพลังงานลม 25% เพื่อรองรับนโยบาย 30@30 ที่มีเป้าหมายผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คันภายใต้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 1 (EV3.0) และระยะ 2 หรือ EV3.5

……………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สายัญ สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img