ในห้วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า เศรษฐกิจเวียดนาม กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าหายใจรดต้นคอไทยเลยทีเดียว แต่ก็มีคนไทยไม่น้อยที่ยังจะปลอบใจตัวเองว่า เวียดนามยังห่างไกลจากไทยราว 30 ปี ระบบสาธารณูปโภคยังล้าหลังห่างไกลไทยมาก
แต่ในทางตรงกันข้าม เรามักจะได้ยินว่า มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ ถือว่าลงทุนในเวียดนามมากที่สุด
ข้อมูลจากกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ระบุว่า ในช่วงปี 1988-2016 เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเป็นเงิน 50.71พันล้านดอลลาร์ ช่วงไม่กี่ปีก็มีโรงงานอุตสาหกรรมย้ายฐานการลงทุนจากไทย ไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ ก็คงเป็นเหตุการณ์หลังเกิดวิกฤติจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้ประเทศจีนที่เป็น “โรงงานของโลก” โดนหางเลขอย่างแรง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทะยอยย้ายฐานออกจากจีน จนทำให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนในปี 2023 “ต่ำ” ที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1993 และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่มูลค่า FDI ของจีนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า บริษัทข้ามชาติปิดโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในจีนจำนวนมาก โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปในจีนกว่า 10,900 บริษัทที่ต้องปิดตัวลงในปี 2023
นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2018 บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯพากันย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ไปหาฐานการผลิตอื่น ซึ่งเวียดนามรับส้มหล่นไปเต็มๆ เนื่องจากอยู่ใกล้จีนและมีบุคคลากรที่มีคุณภาพ ค่าแรงต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงหลั่งไหลเข้าไปลงทุน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเวียดนาม ได้รับการตอกย้ำจากรายงานของ New World Wealth และ Henley & Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานและขอสัญชาติชั้นนำในระดับนานาชาติ เปิดเผยว่า หากเวียดนามสามารถรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก จะทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่า มูลค่าความมั่งคั่งจะพุ่งสูงขึ้นถึง 125%
ทั้งนี้จะเป็นการเติบโตของความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแง่ของรายได้ต่อหัวประชากร และจำนวนเศรษฐีที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว GDP ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2,190 ดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่ามาอยู่ที่ 4,100 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของธนาคารโลก
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เวียดนามถูกจับตามองว่า จะกลายเป็นโรงงานผลิตของโลก ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมาก กระจายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม โดยในปี 2566 FDI เติบโตขึ้น 32% จากปีก่อนหน้า
ปัจจัยความสำเร็จ เนื่องมาจากในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากระบบ “เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” ที่ไม่ประสบความสำเร็จ มาเป็น “สังคมนิยมแบบกลไกตลาด” รัฐบาลเวียดนามที่ผ่านมาทำ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
เรื่องแรก รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศ เช่น การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีของอาเซียน ลงนามการค้ากับสหรัฐฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO และยังทำข้อตกลงการค้ากับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในปี 2019 เข้าเป็นสมาชิกหุ้นส่วนทรานแปซิฟิก (TPP) ในขณะที่ไทยมีข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ น้อยกว่ามาก
เรื่องที่สอง รัฐบาลเวียดนามมีการปฎิรูปกฏหมายครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เหลือน้อยที่สุด กฏหมายที่เก่าล้าสมัยก็ยกเลิก ในขณะที่ประเทศไทยช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ภาคเอกชนลงขันจ้างนักกฏหมายที่มีความเชี่ยวชาญที่เคยไปปฏิรูปกฏหมายให้เกาหลีใต้และเวียดนาม แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล น่าเสียดายอย่างมาก
เรื่องสุดท้าย อันนี้สำคัญมากๆ รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันเวียดนามมีประชากร 95 ล้านคน รัฐบาลได้ลงทุนการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เวียดนามมีบุคคลากรที่จบด้านไอที.จำนวนมาก เพื่อรองรับบริษัทเทคฯ ที่จะเข้าไปลงทุน
เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลรายงานว่า ประเทศเวียดนามมีนักเรียนออกไปเรียนต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน ขณะที่ไทยตกเป็นอีนดับ 4 และมีข่าวว่า เด็กเวียดนามที่จบด้านวิศวกรรม ด้านไอที.จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯกำลังจะกลับมาปั้นให้เวียดนามเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์” เรื่องคุณภาพบุคลากรเวียดนามเป็นจุดแข็ง อุตสาหกรรมที่ย้ายฐานจากไทย เพราะเวียดนามมีแรงงานด้านไอที.และมีค่าแรงถูกแต่ขยันขันแข็ง
เวียดนามมีจำนวนประชากร 95 ล้านคน ทำให้มีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก ขณะที่ไทยเริ่มเป็นสังคมคนแก่ คนอยู่ในวัยทำงานน้อย การที่เวียดนามมีคนในวัยทำงานมาก ทำให้มีฐานของคนชั้นกลางใหญ่ขึ้น ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงขึ้น คนในวัยทำงานหรือคนชั้นกลางเป็นวัยที่ต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น และเป็นกลุ่มคนที่กล้าบริโภค กล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
อย่าแปลกใจที่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวเร็วที่สุดและเติบโตมากที่สุดในอาเซียน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เวียดนามคือ “สมรภูมิสู้รบ” แต่วันนี้เวียดนามคือ “โรงงานของโลกแห่งใหม่” ที่จะผลิตสินค้าส่งออกทั่วโลก
………………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)