ใครเป็นคอการเมือง ชอบให้กำลังใจ ฝ่ายค้าน ในฐานะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล คงลุ้นว่า ในสมัยการการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ จะมีการนำเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่
ตามปกติแล้ว ใครทำหน้าที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จะไม่ปล่อยให้วาระสำคัญผ่านพ้นไป เพราะการเปิดแผลฝ่ายตรงข้าม ให้สังคมได้เห็นความผิดปกติ ยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องทุจริต จะทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะสังคมไทยเกลียดการทุจริตคอรัปชั่น จะรับไม่ได้หากพบมีการหาประโยชน์จากงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน
ในส่วนความรับผิดชอบของสภาฯชุดนี้ หากเป็นเรื่องผู้นำในการตรวจสอบ ภาระหน้าที่คงตกอยู่กับ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) เนื่องจากมีสส.มากที่สุดถึง 151 คน มีเสียงมากที่สุดในสภาฯ และสมควรได้ทำหน้าที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยการยึดมั่นในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองสถาบัน ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ปฏิเสธที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย จนในที่สุดต้องกลายสภาพเป็น “เทวดาตกสวรรค์” ต้องมาทำหน้าที่เป็น แกนนำพรรคฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ วิบากกรรมยังไม่จบสิ้น เพราะมีผู้ร้องนำเรื่องไปร้องต่อองค์กรอิสระ หลังมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า พฤติกรรมของพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้มีคนไปยื่นให้ คณะป้องกันและการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงดาบซ้ำ ซึ่งอาจมีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) กลายเป็นชนักปักหลัง จนทำให้แกนนำพรรคฝ่ายค้านเคลื่อนไหวไม่ได้สะดวก
อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันนั้น พรรคก้าวไกลน่าจะเร่งเก็บคะแนนนิยม เพื่อสร้างคะแนนให้กับแกนนำพรรครุ่นที่ 3 หากต้องมารับไม้ต่อ หลังจาก แกนนำพรรคก้าวไกล ถือเป็นรุ่นที่ 2 มารับไม้ต่อจาก พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ถูกยุบพรรคไป แต่ดูท่าทีของแกนนำพรรคสีส้ม ที่ส่งสัญญาณไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมีการ “ฮั้วทางการเมือง” เกิดขึ้นหรือไม่ ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ถ้าใครยังจำได้ ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปฮ่องกงพบกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ถือเป็นผู้นำตัวจริงพรรคเพื่อไทย หลังจากนั้นออกมายอมรับว่า ทั้ง 2 พรรคควรเป็นพันธมิตรกัน เลยนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ด้วยนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 และท่ามกลางกระแสข่าวมี “ดีลลับ” เกิดขึ้น ทำให้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจบมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ต้องทำใจมารับสภาพเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่ท่าทีล่าสุดของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงท่าที่ของพรรค ที่ดูเหมือนจะแผ่วลง โดยเฉพาะการไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “ไม่แผ่ว แต่เรามองเป็นยุทธศาสตร์ ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่า สว.อภิปรายแล้ว เราต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูล การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไป 1 ปีมีแค่อย่างละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญก็กลับมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้แล้ว”
ขณะที่ก่อนหน้านั้น “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลว่า จากการพูดคุยอย่างเป็นทางการ เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการพูดคุยกัน โดยค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะเปิดอภิปรายทั่วไปปลายเดือนมี.ค. และในช่วงใกล้เคียงกันจะมีวาระ 2 ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งดูจากไทม์ไลน์แล้วคิดว่า อาจจะยังไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไปในสมัยประชุมนี้
“ต้องบอกตามตรงว่า ซักฟอกที่เป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะว่าต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนจะทำเลยแม้แต่บาทเดียว ก็ต้องพูดตามตรงว่ามีงบประมาณจริงๆ ก็หลังจากเดือนพ.ค. ถึงจะใช้งบประมาณที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมาเป็นครั้งแรก” ปกรณ์วุฒิ กล่าว
อันที่จริงถ้าหากย้อนไปไล่ดูเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล ก็มีหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม ไล่ตั้งแต่ กระบวนการพักโทษ “ทักษิณ” หลังจากเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 จากนั้นในกลางดึกวันเดียวกัน ก็เกิดอาการป่วย ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จนกระทั่งครบ 180 วัน ในวันที่ 18 ก.พ.67 โดยไม่ได้เข้ารับการจองจำในเรือนจำเลยซักวันเดียว ท่ามกลางเสียงเสียงและตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการพักโทษ ดำเนินการถูกต้องหรือไม่
ซึ่งในสุดก็มี ภาคประชาชน นำเรื่องไปยื่น ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ให้มีการไต่สวน “กรมราชทัณฑ์-แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ-ฝ่ายการเมือง” ที่เกี่ยวข้องว่า มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการหรือนักการเมือง และกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์กับนายทักษิณหรือไม่
ดังนั้นถ้าพรรคฝ่ายค้านจะนำประเด็นนี้มาตรวจสอบ ตั้งคำถามและหาประเด็นความผิดปกติ เกี่ยวกับการพักโทษอดีตนายกฯ ก็น่าจะช่วยไขข้อครหาให้กับสังคม ยิ่งหากไปพบความไม่ถูกต้อง ยิ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักในการตรวจสอบ ให้องค์กรอิสระมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องถือเป็นเรื่องแปลก
หรืออาจเป็นเพราะ “ธนาธร” มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “ทักษิณ” ส่วน “พิธา” ใครๆ ก็ทราบดีว่า เป็นหลานของ “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งเป็นคนติดตาม “ทักษิณ” ในสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ เลยอาจมีความเกรงอกเกรงใจกัน อีกทั้งที่ผ่านมา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็หลีกเลี่ยงในการวิจารณ์อดีตนายกฯมาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังมีปมร้อนเกี่ยวข้อง การแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเดิมรัฐบาลประกาศว่า จะแจกภายในเดือนพ.ค. แต่แนวโน้มคงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน อีกทั้ง หลายหน่วยงาน ก็ออกมา ตั้งข้อสังเกตและคัดค้าน กับการแจกเงินแบบหว่านแห่ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)-สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)-ป.ป.ช.–สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จนทำให้รัฐบาลยังไม่กล้าตัดสินใจว่า จะดำเนินการในรูปแบบไหน
อีกทั้งใน การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.67 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลฯ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะจำนวน 8 ข้อ อาทิเช่น
1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบาย รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงาน กกต.ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
อย่าลืมว่า ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศว่า จะไม่ใช้เงินกู้มาผลักดันโครงการดังกล่าว แต่ในที่สุด รัฐบาลก็ใช้พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 แสนล้านบาท มาดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นว่า ทำผิดแนวทางกับการหาเสียงไว้ ซึ่งต้องรอดูว่า ในที่สุดเมื่อผลักดันโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทออกมา จะมีการร้องให้ “กกต.” ตรวจสอบหรือไม่ เพราะ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นบรรดทัดฐาน ใครหาเสียง แล้วทำผิดเพี้ยนไป ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ
ด้าน “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่มักออกมาให้ความเห็นถึงนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลฯ ยังออกมาวิจารณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทครั้งล่าสุดว่า “ความเป็นไปได้เริ่มริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ทำทุกวันนี้เหมือนเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ อยากได้เห็นความชัดเจน ว่า จะทำหรือไม่ทำ นิด้าโพลก็บอกแล้วว่า หากไม่ทำ ประชาชนไม่โกรธ แต่ไม่ว่าประชาชนเองก็รอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือนักลงทุน ก็รอให้เกิดตัดสินใจให้แน่นอน เพื่อจะได้มูฟออน ไปทำอย่างอื่นหรือไปทำเรื่องอื่น แบบนี้ชะงักงันไปทั้งหมดทั้งระบบเศรษฐกิจ”
ต้องยอมรับว่า นโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลฯ ถือเป็น “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง หากมีปัญหาเกิดขึ้น และไม่สามารถผลักดันออกมาได้ ย่อมกระทบกับความน่าเชื่อถือพรรคแกนนำรัฐบาล ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านไม่น่าจะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ เนื่องจากะมีต่อคะแนนนิยม ช่วยตอกย้ำให้เห็นความล้มเหลวของฝ่ายบริหาร
รวมถึงเรื่อง ปัญหาที่ดินทับซ้อน และเกิดข้อพิพาทระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) บริเวณ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โดย “เลขาฯส.ป.ก.” ได้สั่งส.ป.ก.โคราช เข้าแจ้งเอาผิดอาญา “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมพวก กรณีบุกถอนหลักหมุดส.ป.ก. แปลงเลขที่ 9 และแปลงอื่น บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 27 หมุด ที่เป็นทรัพย์สินของส.ป.ก. ออกไป ส่อพฤติการณ์ผิดกฎหมายอาญาชัดเจน
หลัง “กรมแผนที่ทหาร” ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ ส.ป.ก. ปักหมุดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ จึงเห็นว่าควรจะกันเป็นพื้นที่กันชน ซึ่งหลังจากกรมแผนที่ทหารออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบ “ชัยวัฒน์” กลับออกมาแถลงไม่เห็นด้วย นำมาสู่เสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งที่กระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในความดูแลของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดย “พล.ต.อ.พัชรวาท วงศษ์สุวรรณ” ทำหน้าที่ “รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ” ส่วน “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ดำรงตำแหน่ง “รมว.เกษตรฯ”
ซึ่งตามธรรมชาติของพรรคฝ่ายค้าน คงไม่ปล่อยให้ประเด็นขัดแย้งของหน่วยงานรัฐจบลงไปง่ายๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งการนำที่ดินส.ป.ก. ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน กระทำโดยถูกต้องหรือไม่
ส่วนท่าที พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีเสียงสส.อยู่เพียง 25 คน “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ กล่าวถึงกรณีที่ประธานวิปฝ่ายค้านระบุว่า จะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “จากที่ได้สอบถาม ยังไม่มีใครบอกว่าจะไม่ยื่น เป็นแค่คำสัมภาษณ์ของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งในข้อเท็จจริง ได้ถามพรรคก้าวไกล เขาบอกว่าไม่ได้พูดอย่างนี้ ซึ่งยังงงกับข่าวดังกล่าวที่ออกมา เพราะการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านยื่นอยู่แล้ว แต่ต้องดูที่ข้อมูลว่ามีแค่ไหน เช่น นโยบายรัฐบาลที่ประกาศแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ และงบประมาณปี 2567 ที่จะประกาศใช้ และอะไรที่ทุจริต ก็ต้องอภิปรายแน่นอน”
เมื่อถามว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูลที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนี้หรือไม่ “ชัยชนะ” กล่าวว่า “เรามีข้อมูลเพียงพออยู่แล้ว บอกได้เลยว่า รัฐบาลนี้ไม่ต้องหาข้อมูลอะไรเยอะ โดยเฉพาะข้อมูลที่นายกฯเคยให้สัญญาไว้กับประชาชนแล้วไม่ได้ทำ”
จากนี้ไปต้องจับตาดูท่าทีพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จะทิ้งโอกาสสำคัญในตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่ หรือจะเล่นบท “นักรบใจดี” ปล่อยให้คู่ต่อสู้ได้มีโอกาสหายใจหายคอ
แต่ในที่สุดถ้าไม่มีการยื่นซักฟอก “เครื่องจักรสีส้ม” ก็คงต้องตอบคำถามสังคมมากพอควร โดยเฉพาะบรรดาฮาร์ดคอร์การเมือง และอาจถูกครหาว่า “เล่นบทฮั้วทางการเมืองหรือไม่” หลังเคยถูกวิจารณ์ถึงท่าทีนิ่งเฉยต่อปมพักโทษ “ทักษิณ” มาแล้ว
………………………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย… “แมวสีขาว”