หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบ “พรรคก้าวไกล” เมื่อ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
พบว่าจนถึง ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 15 มี.ค. “กกต.” ก็ยังไม่ได้ส่งคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องฯ ซึ่งเมื่อยกร่างเสร็จ ก็ต้องส่งเข้าที่ประชุมใหญ่กกต.อีกครั้ง เพื่อให้ กกต.เห็นชอบ จากนั้นถึงค่อยส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็คาดว่า น่าจะไม่เกินเดือนมี.ค.นี้
โดยคดีนี้ ยังไง…ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยแน่นอน แต่ประเด็นก็คือ แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเร็วแค่ไหน?
ท่ามกลางความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาตลอดทั้งสัปดาห์ หลังกกต.มีมติดังกล่าวว่า…“ก้าวไกล” รอดยาก “ยุบพรรค” แน่นอน และจะมีการตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในช่วงเกิดเหตุตามคำร้องคดี “ล้มล้างการปกครองฯ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปแล้วเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
แม้จะพบว่า ในซุ้มเสียงที่วิเคราะห์ไปในทางว่า “ก้าวไกลรอดยาก” แต่ก็ยังมีบางส่วนมองว่า โอกาสที่ก้าวไกลจะรอด ไม่โดนยุบพรรคก็มี แต่น่าจะมีน้อย เพราะในคำวินิจฉัยกลางคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็ระบุพฤติการณ์หลายอย่างของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “ก้าวไกล” ไว้ว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
หลายคนจึงเชื่อว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเป็นเอกฉันท์ในคดีล้มล้างการปกครองฯแล้ว จะมาเห็นเป็นอีกอย่างในคดียุบพรรคก้าวไกลได้อย่างไร ในเมื่อ คดีล้มล้างการปกครองฯคือสารตั้งต้น ที่นำมาสู่คดียุบพรรคก้าวไกล
ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงมองว่า เมื่อต้นเรื่อง “ก้าวไกล-พิธา” ผิด จน “กกต.” มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โอกาสรอด แม้ยังอาจมี แต่ก็น้อยและริบหรี่
จึงไม่แปลกที่แกนนำพรรคก้าวไกลบางส่วน จึงมองข้ามช็อตไปถึงการเตรียม “พรรคสำรอง” และการเตรียมดัน “แกนนำพรรครุ่นถัดไป” ขึ้นมานำทัพพรรค ต่อจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอนนี้แล้ว และคงต้องรีบดำเนินการ
เพราะตอนนี้ เริ่มจับสัญญาณได้ว่า หลายคนเชื่อว่า คดียุบพรรคก้าวไกลน่าจะจบเร็ว การไต่สวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ใช้เวลานาน
เนื่องจากมีพื้นฐานคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่เป็นต้นเรื่องในคดียุบพรรคก้าวไกล ปูพื้นมาแล้วและเมื่อคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล ทาง กกต.ก็อิงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดกระบวนการบางอย่างออกไป เช่น การเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ที่จะทำให้การพิจารณาคดี เร็วขึ้นอย่างน้อยๆ ก็ร่วมครึ่งเดือนทันที
อย่างเช่นความเห็นของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ที่ให้ความเห็นว่า…
“กรณีเลวร้ายสุด (Worst case scenario) เมื่อ กกต. ส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัย ไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากแทบไม่ต้องไต่สวนใหม่ แต่อาจมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมได้”
สอดรับกับความเห็นของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ และที่สำคัญ เขาคือคนที่เคยไปยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้สอบสวนพรรคก้าวไกล ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ตอนที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 แต่ตอนนั้น กกต.ไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ทำให้ต่อมา จึงไปยื่นต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญตามลำดับ จนเมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ เขาจึงไปยื่นเรื่องซ้ำกับ กกต.ให้ยุบพรรคก้าวไกล จน กกต.มีมติในคดียุบพรรคก้าวไกลตามมา
โดย “ธีรยุทธ” วิเคราะห์กับ “ทีมข่าว thekey.news” ว่า ตอนศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีล้มล้างการปกครองฯ มีการเรียกข้อมูลพยานต่างๆ จากหลายหน่วยงานราชการ เช่น ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐสภาฯ รวมถึงการขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการ และยังเรียกนายพิธา มาให้ถ้อยคำต่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนเกิดคำตัดสินคดีล้มล้างการปกครองฯ
“ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียด มีการรวบรวมพยานหลักฐานไว้ทั้งหมด ตลอดจนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาไว้แล้ว เมื่อกกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมติเมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ผมมองวา ศาลรัฐธรรมนูญอาจแค่นำคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว เข้ามารวมกับคำร้องของ กกต.แล้วก็สามารถวินิจฉัย โดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังคำชี้แจงจากพรรคก้าวไกล ซ้ำเดิมอีก เพราะคำชี้แจงข้อกล่าวหาในคดียุบพรรคที่ กกต.จะยื่นไป ก็คงไม่ได้หนีห่างจากคำชี้แจงข้อกล่าวหาที่พรรคก้าวไกลยื่นศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ ผมจึงเชื่อว่า คำร้องคดียุบพรรคที่ กกต.จะยื่นไป คงไม่มีการนับหนึ่งใหม่ โดยศาลคงเริ่มต้นการพิจารณาคำร้องของ กกต.แล้วสามารถที่จะสั่งงดการไต่สวน หรืองดการเรียกพยานหลักฐานจากจุดอื่น แล้วสามารถที่จะวินิจฉัยคดีได้เลย
จากการคาดคำนวณการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ หากนำเอาเคสกรณีคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ มาเป็นแนวทาง พบว่า นับจากวันที่ กกต.มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ใช้เวลาแค่ 25 วัน ผมก็มองว่าสำหรับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล หากจะเกินไปจาก 25 วัน ก็คงไม่เกิน 30 วัน หรืออาจเกินจาก 30 วันไปเล็กน้อย นับจากวันที่กกตส่งคำร้องให้ศาลรธน.” ธีรยุทธ ให้ความเห็นกับทีมข่าว thekey.news
สุดท้ายไม่ว่า คดียุบพรรคก้าวไกลจะจบช้าหรือเร็ว แต่เชื่อเถอะว่า แกนนำพรรค-สส.ของพรรค ต้องเตรียมคุยกันแล้วถึงอนาคตของพรรคก้าวไกลจะเอาอย่างไรต่อไป หลังเห็นสัญญาณหลายอย่าง บ่งชี้ว่า…รอดยาก
……………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”