รฟท. เร่งเจรจา “ซีพี” ให้จบภายใน เม.ย.นี้ เคาะข้อเสนอปรับโครงสร้างทางการเงินไฮสปีดเทรน ขณะที่เอกชนรับปากลงทุน 9 พันล้านบาท สร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ลุ้นยื่นออกบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI รอบสุดท้ายก่อน 22 พ.ค.นี้
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ร.ฟ.ท. , สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด เพื่อหาข้อสรุปข้อเสนอของกลุ่มซีพีในการปรับโครงสร้างทางการเงินสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้ คาดว่าเจรจาเสร็จใน เม.ย.นี้ เพื่อให้ทันการยื่นขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในเดือน พ.ค.2567 และนำไปสู่การส่งมอบพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง
ขณะที่ประเด็นการลงทุนโครงสร้างร่วมระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยเอกชนยืนยันใช้เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการส่วนนี้ทั้งหมด โดยภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณจะทำให้ ร.ฟ.ท.ประหยัดงบประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเหลือการเจรจาประเด็นสุดท้ายที่จะทำให้โครงการเดินหน้าตามแผน คือ การเจรจาให้ได้ข้อสรุปส่วนของการปรับโครงสร้างทางการเงิน และการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เพราะเอกชนยื่นข้อเสนอการปรับรายละเอียดการจ่ายเงิน โดย ร.ฟ.ท.เชื่อมั่นว่าจะได้ข้อสรุปตามเป้าหมาย ส่วนผลการหารือจะทำให้ต้องปรับแก้ร่างสัญญาหรือไม่นั้น ขอเจรจาให้ได้ข้อสรุปก่อน
รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แจ้งว่า อยู่ระหว่างเจรจาข้อเสนอของกลุ่มซีพีในประเด็นเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญา เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนช่วงประมูล เพราะผลกระทบโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเปลี่ยนไป ซึ่งรายละเอียดที่กลุ่มซีพียื่นเสนอมา อาทิ การจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่ขอพิจารณาแลกเปลี่ยนเป็นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
โดยหากการเจรจาแล้วเสร็จ ร.ฟ.ท.ยินยอมในข้อเสนอหักลบค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แลกกับการให้กลุ่มซีพีลงทุนก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ก็จะทำให้ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องลงทุนค่างานก่อสร้างส่วนนี้ เพราะค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าค่าก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนที่มีวงเงินราว 9 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาข้อเสนอของกลุ่มซีพีไม่แล้วเสร็จภายในกรอบกำหนด และไม่ทันต่อการออกใบส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก็จำเป็นต้องตัดสินใจเจรจากับกลุ่มซีพีว่า จะดำเนินโครงการนี้ต่อหรือไม่ เพราะหากไม่ได้บัตรส่งเสริม BOI ก็ไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ได้ และถือเป็นการดำเนินงานที่ขัดสัญญาร่วมทุน อาจจะต้องพิจารณายกเลิกสัญญา และนำไปสู่การเปิดประมูลใหม่
ทั้งนี้ หากการเจรจาได้ข้อสรุปตรงกันและยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปตามสัญญาร่วมลงทุน แต่หากมีรายละเอียดภายในสัญญาที่ปรับเปลี่ยนออกไป ก็มีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการใหม่ แต่ยังถือเป็นสัญญาณที่ดีกว่าการยุติสัญญาร่วมทุนและต้องประมูลใหม่ เพราะต้องใช้เวลาในกระบวนการมากกว่า
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอต้องยึดตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่่กำหนดให้บีโอไอสามารถอนุมัติขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้เพียง 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของโครงการนี้ คือ สิ้นสุดในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบที่ดินโครงการเพื่อก่อสร้าง (NTP) หรือสัญญาร่วมทุน คงต้องยึดตามความเห็นของ ร.ฟ.ท. และ สกพอ.เป็นหลัก