กองทัพเรือจัดโครงการ “เปิดบ้านดนตรีไทย” ให้ลูกหลานเรียนดนตรีไทย ดนตรีสากล และกีฬาว่ายน้ำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.67 จากกรณีที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม พร้อมกับ “จักรพงษ์ แสงมณี” รมช.ต่างประเทศ ร่วมกับ “พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม” ผบ.ทร. และคณะฯ เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเจรจาหาข้อยุติเรื่องปัญหาเรือดำน้ำ และ อาจเจรจาเรื่องการจัดซื้อเรือฟริเกตจากประเทศจีน รวมทั้งมีกระแสว่า อาจคุยเจรจาเรื่องการยกเลิก “เรือดำน้ำ” โยกเงินค่างวดซื้อ “เรือฟริเกตจีน” แทน
@@@…….หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ฝ่ายความมั่นคง ยังคงมองว่า “เรือดำน้ำ” และศักยภาพในการปฏิบัติการของกำลังรบใต้ผิวน้ำ คือ ความต้องการยิ่งยวดที่แท้จริงด้านการป้องกันประเทศของกองทัพเรือ และเหล่าทัพ จนถึงปัจจุบัน ความพยายามในการจัดหา และบรรจุประจำการเรือดำน้ำของกองทัพไทย มีมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ประเทศรอบบ้าน มีเรือดำน้ำใช้งานแล้วเกือบทุกชาติ ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ยืนยันแนวทางเดิมคือ การเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้เครื่อง CHD 620 ของจีน พร้อมกับนำเสนอ 3 แนวทางตามที่เคยให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความ เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขสัญญาที่ต้องผ่าน ครม. เห็นชอบ ทั้งชนิดเครื่องยนต์ และการขยายเวลาสัญญา เพราะเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ
@@@…….ประเด็นปัญหาอยู่ที่ เครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าเพื่อชาร์จไฟฟ้าให้กับชุดแบตเตอรี่สำหรับเป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อนตัวเรือด้วยมอเตอร์ไฟฟ้านั้น ไปล็อคที่ ผลิตภัณฑ์ของเยอรมันนี ซึ่งปัจจุบัน เยอรมันไม่ขายให้จีนแล้ว หมายถึง “จีนไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้” ขณะที่ด้วยความเป็นจริงแล้ว ครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้านี้ มิใช่อุปกรณ์หลักในระบบขับเคลื่อน และสามารถใช้เครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้ายี่ห้ออะไรก็ได้ เพื่อชาร์จกำลังไฟฟ้าให้กับชุดแบตเตอรี่ ซึ่งปกติจะดำเนินการบนผิวน้ำ ก่อนที่เรือดำน้ำดีเซลแบตเตอรี่จะดำลง และใช้กำลังไฟฟ้าจากชุดแบตเตอรี่ในการเดินเรือใต้ผิวน้ำต่อไป แต่หากจำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทำไฟขณะอยู่ใต้น้ำ ก็กระทำได้ขึ้นอยู่กับระบบระบายอากาศ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าว่าจะเป็นยี่ห้อใด รุ่นใด หรือผลิตมาจากประเทศใดนั่นเอง
@@@…….ด้วยข้อพิจารณาที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นได้ว่า เครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าจากเยอรมัน จึงมิใช่เกณฑ์พิจารณาหลักของเรือดำน้ำจีนที่จะเป็นเกณฑ์ “ต้อง” หรือ “ไม่ต้อง” ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงหวังว่า คณะเจรจาของ “รมว.กลาโหม” จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รอบด้าน เนื่องจากศักยภาพในการปฏิบัติการใต้ผิวน้ำ คือ ศักยภาพใหม่ที่ไทยไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่การจัดหาเรือฟริเกต เพียงเป็นการเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติการบนผิวน้ำที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้นอีกบ้างเท่านั้น ทั้งนี้ ในทางปฏิบัตินั้น กองทัพเรือต้องการสุดยอดเรือฟริเกตคุณภาพลำที่ 2 จากเกาหลีใต้ มิใช่เรือฟริเกตจากจีน ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอาวุธซัดส่งจากใต้น้ำขึ้นสู่ฝั่ง คือขีดความสามารถที่ยังไม่มีชาติใดในกลุ่มประเทศอาเซียนถือครองอยู่ หมายถึงการบรรจุประจำการเรือดำน้ำจีน จะให้ผลในการป้องปรามที่ยอดเยี่ยมมาพร้อมด้วย รวมทั้งการนำเข้าระบบ BeiDou ซึ่งแม่นตรงกว่าระบบ GPS ของชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก อันคาดหวังได้ว่าจะส่งผลให้ระบบอาวุธของกองทัพไทย และเหล่าทัพ ก้าวหน้าไปอีกระดับโดยไม่ผูกแน่นไว้กับเทคโนโลยีทางทหารของชาติตะวันตกเท่านั้นอีกด้วย
@@@…….ความมั่นคงด้านป้องกันประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่พิจาณาด้วยความรอบคอบลึกซึ้งอย่างถึงที่สุดนั้น ไม่ได้ ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้งบประมาณเพื่อการนี้เพียงประมาณ 1.4% GDP เท่านั้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชาติที่ไม่ใส่ใจเรื่องความมั่นคง ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของไทย ซึ่งปากอ่าวไทยนั้นแคบอย่างยิ่ง ทำให้เรือรบชั้นเยี่ยมของชาติที่ไม่เป็นมิตรเพียง 2 ลำ อาจสามารถปิดอ่าวไทยได้ ขณะที่ สินค้าและบริการเข้าออกประเทศไทยมากกว่า 80% ของชาติต้องใช้เส้นทางขนส่งทางทะเลผ่านปากอ่าวไทยเท่านั้น ดังนั้นเพื่อปกป้องเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจให้ปลอดภัยได้อย่างมั่นใจ การพัฒนากำลังรบทางทะเลของกองทัพเรือและศักยภาพทางทหารของกองทัพไทยในพื้นที่ปากอ่าวไทย ทั้งบนบก ผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ จึงถือเป็นความจำเป็นสำคัญยิ่งยวดที่ขาดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย ได้รับการประกัน
@@@…….เยือนสหรัฐฯ….พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พร้อมด้วย พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร, พล.อ.อ. เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ และคณะ เดินทางไปยังกองบัญชาการ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (USINDOPACOM) โดยมี พล.ร.อ. John C. Aquilino ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ให้การต้อนรับ จากนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ขึ้นแท่นรับความเคารพจากแถวกองทหารเกียรติยศ และได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุป รวมทั้งหารือข้อราชการกับนายทหารระดับสูงของ USINDOPACOM เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค และได้เข้าร่วมการประชุม 2nd Senior Leader’s Dialogue (2nd SLD) การประชุม SLD เป็นเวทีหารือด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐฯ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ แผนงานความร่วมมือ การพัฒนากองทัพ การแลกเปลี่ยนการเยือน การฝึก ศึกษา รวมถึงประเด็นด้านความมั่นคงอื่น ๆ
@@@…….โดยภายหลังการประชุมฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้ร่วมลงนามในเอกสารแนวทางความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการกองทัพไทย-กองบัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (SLD 8 Star Annex) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือต่อไป ในโอกาสเดียวกันนี้ พลโทจักรพงษ์ จันทร์เพ็งเพ็ญ เจ้ากรมยุทธการทหาร และ Major General Jay Bargeron เจ้ากรมแผนและนโยบายยุทธศาสตร์ กองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (Director of Strategic Planning and Policy Directorate, USINDOPACOM) ได้ร่วมลงนามในเอกสารแผนการฝึกคอบร้าโกลด์ ระยะ 6 ปี (2568-2573) (Cobra Gold 6-year Plan (2025-2030)) อีกด้วย
@@@…….ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก กองทัพบก สภากาชาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำพิธี ส่งมอบถุงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และปล่อยขบวนรถบรรทุกถุงให้ความช่วยเหลือฯ ซึ่งถุงยังชีพเพื่อการช่วยเหลือได้บรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคต่างๆ รวม 4,000 ถุง และภายหลังพิธีส่งมอบฯ ขบวนรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือได้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 เพื่อตรงไปยัง พื้นที่นำร่อง 3 แห่งในรัฐกะเหรี่ยง ได้แก่ บ้านนาบู, บ้านไปร่จง และ บ้านตามันยา สำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือผ่านระเบียงมนุษยธรรมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยเป็นการแสดงความหวังดีของไทยต่อคนเมียนมา เพื่อปรารถนาจะเห็นเมียนมามีสันติ เสถียรภาพและมีเอกภาพ ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง นำกลับไปสู่กระบวนการพูดคุยหารือร่วมกัน และอนาคตจะมีการขยายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ กองทัพบกพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเมียนมา ดำรงการดูแลประชาชนตลอดแนวชายแดน ทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อย สกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ
@@@…….กองทัพเรือ…..พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วย นางกีระตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้เดินทางไปยังหอดุริยางค์ กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ เพื่อเปิดโครงการ “เปิดบ้านดนตรีไทย” โดยมี พล.ร.ต.ภาณุพันธ์ ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพให้การต้อนรับ สำหรับโครงการ “เปิดบ้านดนตรีไทย” กองทัพเรือ โดยกองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ จัดให้มีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้บุตรหลานข้าราชการ และนักเรียนบุคคลภายนอกที่สนใจในเรื่องดนตรีไทย ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้อย่างถูกวิธีกับนักดนตรีไทยมืออาชีพของกองทัพเรือ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการ ได้สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนดนตรีไทยและสืบสานวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวไทยที่ทุกคนต้องอนุรักษ์ไว้ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนด้านสวัสดิการ ในการให้บริการครอบครัวกำลังพลทหารเรือ และบริการประชาชน ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมภริยาทหารเรือ
@@@…….ผบ.ทร.กล่าวว่า “การเรียนดนตรีและการกีฬาต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก และเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครอง ดังนั้นในวันนี้ กองทัพเรือจะทำหน้าที่ดูแลลูกหลานข้าราชการ และลูกหลานประชาชนที่อยู่รอบกองทัพเรือให้ได้รับสิทธินี้ เรามีทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล อีกทั้ง กีฬาว่ายน้ำ เทนนิส แล้วแต่ว่าหน่วยไหนมีความพร้อมอย่างไร โดยวันนี้ท่านส่งลูกหลานมาเรียนดนตรีไทยเมื่อจบคอร์สแล้วสามารถเรียนต่อได้ทุกหลักสูตรที่กองทัพเรือเปิดสอนโดยเฉพาะว่ายน้ำ เป็นหลักสูตรที่อยากให้น้องๆ ทุกคนว่ายน้ำเป็น สามารถมาเรียนกันได้ กองทัพเรือยินดี และฝากคุณพ่อคุณแม่ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อด้วย ขอขอบคุณผู้ปกครองทุกคนที่ไว้วางใจให้กองทัพเรือดูแลบุตรหลานของท่าน เราจะทำให้ลูกหลานของท่านเก่งในทุกด้าน เรียนดนตรีไทยเสร็จ ใครอยากเรียนดนตรีสากล ใครอยากเรียนว่ายน้ำ ใครอยากเรียนฟุตบอล กองทัพเรือมีให้หมด ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร และอวยพรการจัดกิจกรรมครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม เด็กๆ คือคลื่นลูกต่อไปที่จะช่วยกันดูแลประเทศชาติ”
………………………………….
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”