ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังดอลลาร์อ่อน-นักลงทุนเทขายทองคำทำกำไร ขณะที่ประธานเฟดย้ำจุดไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2%
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.58-36.68 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ในช่วงแรก เงินบาทได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อีกทั้งประธานเฟดสาขา Atlanta (Raphael Bostic) ก็ออกมาสนับสนุนว่า เฟดควรลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง ในปีนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทได้พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรราคาทองคำ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ส่วนถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากท่าทีดังกล่าวของประธานเฟดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและสอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% ของบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ จากรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาดีกว่าคาดและท่าทีสนับสนุนเฟดลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ของประธานเฟดสาขา Atlanta ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง จากรายงานดัชนี ISM ภาคการบริการที่ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.11%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.29% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ASML +1.6% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็มั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell +1.1% หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.40% ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะพลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.35% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด
อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่จะเคลื่อนไหวไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างไรก็ดี เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% (Risk-Reward มีความคุ้มค่า) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไร สถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่า) ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างออกมาย้ำจุดยืนว่า เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.8 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะเผชิญแรงกดดันบ้าง ในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% ทว่า รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ล่าสุด ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเฉพาะโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด ซึ่งอาจมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในปีนี้ได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มชะลอลง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และอานิสงส์ของโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ จากการประเมินปัจจัยเชิงเทคนิคัล สัญญาณ Bearish Divergence บน USDTHB ก็มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อประเมินจากภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทรายชั่วโมง และราย 4 ชั่วโมง ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลง และน่าจะยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่การกลับมาแข็งค่าขึ้นก็อาจยังติดโซนแนวรับ 36.45 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบกลับมาเพิ่มสถานะ Long THB หรือลดสถานะ Short THB อย่างมีนัยสำคัญ จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ก่อน
ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วง 18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์