‘เงินเฟ้อ’ มีนาคม ติดลบ 0.47% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 พร้อมปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ อยู่ที่ 0.5% จากเดิมอยู่ที่ 0.7% เผย ก.พ.เงินเฟ้อไทย เทียบต่างประเทศ ต่ำอันดับ 4 จาก 136 เขตเศรษฐกิจ และต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข
วันที่ 5 เม.ย.67 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ‘เงินเฟ้อ’ เดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 107.25 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.76 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 0.47 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยปรับลดลงตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคายังคงปรับลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลงร้อยละ 0.77 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 4 จาก 136 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)
เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เงินเฟ้อ ลดลงร้อยละ 0.79 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.21 (QoQ)
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น (2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และช่วงเดียวกันของปีก่อน (3) ฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก และ (4) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ 1.ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผัก รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก 2.เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และ 3.การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลาง 0.7) เป็นระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลาง 0.5) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะมีการทบทวนต่อไป