“ศิริกัญญา” สวนทันควัน ถามรบ.ไตรมาส 4 ไม่เลื่อนอีก ขอทราบแผน คาใจร้านสะดวกซื้อเข้าข่ายร้านขนาดเล็กหรือไม่ หลัง “นายกฯ” แถลง “ดิจิทัลวอลเล็ต” บอกขอทราบแผนทั้งหมด แนะรบ.ส่งกฤษฎีกา-แก้กฎหมายธกส.ก่อนนำเงินเกษตรกรมาแจก ชี้ผิดวัตถุประสงค์ หวั่นซ้ำรอยปม “ออมสิน”
วันที่ 10 เม.ย. เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตว่า ตอนนี้เข้าใจว่าข้าราชการสำนักงบประมาณไม่มีวันหยุดสงกรานต์ โดยในส่วนงบประมาณปี 67 มีเวลาได้เตรียมตัว เตรียมการณ์ แต่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย สุดท้ายน่าจะต้องโอนและเพิ่มงบไปที่กองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ และแจกจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และยังมีปัญหาว่าปกติบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะจ่ายผ่านบัตรประชาชน แต่รอบนี้จะให้ใช้เป็น OPEN LOOP คือเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ แต่ตามปกติก็ต้องไปกดเงินผ่านบัตรประชาชนที่ตู้เอทีเอ็มเท่านั้น และยังต้องใช้ผ่านร้านค้าที่มีเครื่องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ยังเป็นปัญหาที่ระบบเพื่อให้ใช้เงินได้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อยากฝากไปยังรัฐบาลว่าเมื่อมีการยืนยันว่าไตรมาส 4 จะไม่เลื่อนแน่นอน ตนอยากจะเห็นแผนงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน ไม่ว่าจะเป็นออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี จะทำเมื่อไหร่ และทางสภาก็รออยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่อย่างไร และยังมีเรื่องการพัฒนาระบบซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแอพลิเคชั่น เป๋าตัง แต่มีการทำแอพใหม่โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล เป็นคนจัดทำนั้นจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะกระบวนการทำระบบจำเป็นต้องมีการทดสอบระบบก่อนที่จะใช้งานได้จริง เพราะหากใช้จริงแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเยอะก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเช่นเดียวกัน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนรายละเอียดของการใช้จ่ายที่มีการแก้ไขไปในทางที่ดีในการที่ระบุว่าให้ใช้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามร้านค้ารายเล็กเรายังได้ยินไม่ชัดเจนว่าตกลงร้านสะดวกซื้อ เป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่ เพราะร้านขนาดเล็กคือร้านขนาดเล็กลงมาแล้วรวมร้านสะดวกซื้อหรือไม่ เพราะกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือต้องใช้ 2 รอบ แล้วจึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่แลกได้ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจจะทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการหรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องไปใช้จ่ายต่อแต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก และหากสุดท้ายร้ายค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ แต่ทั้งนี้วันนี้ยังไม่ค่อยได้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม คงต้องรอนัดถัดไปเพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ถือว่ารับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนในการที่จะปรับในเรื่องของร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ
เมื่อถามว่าการที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไม่มาร่วมประชุมบอร์ดใหญ่ดิจิทัล วอลเล็ต ถึงสองครั้ง มีนัยยะอะไรหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆก็ติดภารกิจประชุมกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งเข้าใจว่ามีตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม และตัวแทนก็สู้กว่าใคร พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้โครงการนี้ออกมาดี และมีการให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้ง และเข้าใจว่าทางคณะกรรมการคงจะมีมติอยู่บนความคิดเห็นที่รอบด้านจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าโครงการรดิจิทัล วอลเล็ตจะสามารถกระตุ้นจีดีพี และเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2-1.8 และคาดการณ์ของปี 68 แบบฐานปกติน่าจะโตประมาณ 3.3 ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจปี 68 หากมีดิจิทัล วอลเล็ต ก็น่าจะโตได้ประมาณ 3.5-4.1 ซี่งเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะสามารถเป็นไปได้อย่างที่คาดการณ์หรือไม่ เพราะหลายเจ้าจะประเมินอยู่ที่ประมาณ 0.9-1 เปอร์เซ็นทั้งนั้น แต่เรื่องที่เราเป็นกังวลมากกว่าคือรัฐบาลสัญญาไว้ว่า 4 ปี จีดีพีต้องโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็น แต่ปีที่อัดทุ่มเงินงบประมาณมากที่สุดยังโตได้แค่ 5.1 อย่างเต็มที่ แล้วปีอื่นๆที่เหลือ ที่ไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น และเรื่องที่ผลจะตามมาคือหนี้สาธารณะ ซึ่งตอนนี้เฉพาะที่ขยายวงเงินของปี68 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 67 เปอร์เซ็น เรียบร้อยแล้ว และภาระดอกเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็น ของรายได้ เท่ากับว่าจะเก็บภาษีมาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยหมดไปแล้ว ยังไม่นับว่าปี67 ก็ต้องกู้เพิ่มอีก
“จึงเป็นคอขวดที่สำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป และยิ่งใช้เร็วก็จะยิ่งดี ยิ่งไปกินเงินงบประมาณในส่วนอื่นๆไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องมาแบกรับภาระหนี้ต่ออยู่แบบคอหอยแล้ว อีกนิดเดียวจะชนเพดานที่ 70 เปอร์เซ็นแล้ว นี่ขนาดเป็นกู้สาธารณะเพียงแค่งบ67 และงบ68 ยังไม่นับรวมกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินงบประมาณในการใช้คืนหนี้อยู่ดี ฉะนั้นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีเรื่องภาระที่แฝงมาด้วย หลังจากที่ทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต”น.ส.ศิริกัญญากล่าว
เมื่อถามว่ารัฐมีอำนาจในการใช้เงินของธกส. และเป็นไปตามวินัยการคลังหรือไม่ว่า เรื่องธกส.ยังมีประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะว่าตามวัตถุประสงค์ของธกส.ที่ระบุไว้ตามกฎหมายสามารถทำได้ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อใดที่จะไปทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่าจะต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความเหมือนกับกรณีของธนาคารออมสินหรือไม่ แต่ว่ามันมีความเทาๆที่จะสามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่การที่ละเลยที่จะมีการให้กฤษฎีกาช่วยตีความก่อนก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้มีเงินมาใช้จ่ายให้เต็มที่ เพราะธกส.ยังติดเกณฑ์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลก็พูดย้ำหลายรอบว่าไม่มีการขยายแน่นอน ก็ต้องมารอดูว่าโครงการไหนจะไปก่อน เพราะพักหนี้เกษตรกรจะทำต่อจนครบ 3 ปีหรือไม่ หรือว่าโครงการไร่ละ 1 พันจะยังคงเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อกังวลสำหรับการใช้เงินของธกส.
เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรนอกจากรอให้รัฐบาลถามกฤษฎีกา น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะถามกฤษฎีกาอยู่หรือไม่ เราก็จะช่วยกระทุ้งอีกแรงว่าตรงดูให้ดีๆ หรือต้องแก้ไขพ.ร.บ.ธกส.ให้เรียบร้อยก่อน ถ้ารัฐบาลจะออกพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 67 แก้นิดหน่อยเพื่อให้มีความสบายใจ และให้ ธกส.ไม่ต้องกังวลที่จะเอาเงินมาให้ดิจิทัลวอลเล็ตใช้ด้วย แค่นี้ก็บิดมากพอแล้วที่ให้เป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะ เพื่อที่จะจ่ายให้เฉพาะเกษตกร ต้องไปหามา 17 ล้านคนก็ว่าเหนื่อย ตัวระเบียบและกฎหมายต่างๆก็ควรจะทำให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่าตามปกติแล้วนโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายใหม่ ซึ่งเราก็ทำกันมาหลายครั้งโดยต้องการจะกระตุ้นภาคอสังหาฯให้เดินต่อไปได้ แต่รอบนี้ที่แปลกคือเรื่องของการลดค่าโอนที่จากเดิม ลดค่าโอนเฉพาะบ้านที่ราคาไม่เกิน3 ล้านบาท แต่วันนี้ขยายไปที่7 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะว่ามีสต๊อกคงค้างอยู่ค่อนข้างมาก ขายไม่ออก ถึง 46 เปอร์เซ็น จึงชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายโครงการนี้จะเป็นไปเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น หรือเป็นเพียงแค่กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว เพื่อจะทำให้บริษัทที่อยู่ในภาคนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน โดยเรื่องที่สำคัญคือค่าธรรมเนียมผ่านการโอนต่างๆเป็นเงินที่จะต้องส่งต่อไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และรอบนี้เนื่องจากขยายไปจนถึง 7 ล้านบาททำให้สูญเสียเม็ดเงินค่าธรรมเนียมไปถึง 2.3 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าท้องถิ่นเงินหายไปในจำนวนดังกล่าวจึงอยากให้รัฐบาลนี้เปลี่ยนวิธีการบ้าง ซี่งในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำแบบนี้ เหมือนกับการควักเงินขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปอุดหนุนภาคอสังหาฯและรอบนี้หากจะให้ดีรัฐบาลต้องตั้งเงินเพื่อที่จะชดเชยให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนค่าธรรมเนียมที่หายไปด้วย มิเช่นนั้นจะไม่เป็นการยุติธรรมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่รายได้อยู่ดีๆจะหายไป รอบที่แล้วภาษีที่ดินก็ยังคืนเขาไม่หมด มารอบนี้ก็จะมาลดค่าธรรมเนียมการโอนอีก ทำให้เขาเดือดร้อนแน่นอน