วันศุกร์, มกราคม 3, 2025
หน้าแรกHighlight“ธนาคารออมสิน”เปิดรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ลดดอกเบี้ย“4 กลุ่มสินเชื่อ”ช่วยลูกหนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ธนาคารออมสิน”เปิดรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ลดดอกเบี้ย“4 กลุ่มสินเชื่อ”ช่วยลูกหนี้

“ออมสิน” เปิดให้กู้โครงการ “สินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” ตั้งเป้าแก้หนี้ครัวเรือนตามนโยบายรัฐลดดอกเบี้ย 4 กลุ่มสินเชื่อช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต-พรีโลนนาโนไฟแนนซ์-สินเชื่อบ้าน

รายงานข่าวจากธนาคารออมสินแจ้งว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และได้สั่งการให้ธนาคารออมสินหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนลดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะผู้มีหนี้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผู้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอันเป็นผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐ และสอดรับกับบทบาทธนาคารเพื่อสังคม ธนาคารจึงพิจารณาออกมาตรการรีไฟแนนซ์ ภายใต้โครงการ “สินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” รับรีไฟแนนซ์หนี้เดิม (ไม่ใช่การปล่อยสินเชื่อใหม่) เพื่อช่วยลดภาระแก่ลูกหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ลูกหนี้บัตรเครดิต 2) ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ Personal Loan (P-Loan) 3) ลูกหนี้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) 4) ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ซึ่งการเปิดให้รีไฟแนนซ์สินเชื่อด้วยหลักเกณฑ์ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเงื่อนไขพิเศษอื่นครั้งนี้ ตั้งเป้าช่วยเหลือประชาชนลดภาระการชำระหนี้ ผ่อนสบายมากขึ้น หรือผู้ที่รีไฟแนนซ์แล้วแต่ประสงค์ผ่อนชำระเงินงวดเท่าเดิม ก็จะตัดเงินต้นมากขึ้นเพราะดอกเบี้ยลดลง ทำให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ทั้ง 4 มาตรการ ดังนี้

1.Re-Card : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้บัตรเครดิตของสถาบันการเงิน หรือ Non-Bank อื่น โดยการรีไฟแนนซ์/รวมหนี้บัตรเครดิตมาผ่อนชำระกับธนาคารออมสินในรูปแบบเงินกู้ระยะยาว (Long Term Loan) ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 16% ต่อปี ลงเหลือ 8.99% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น) วงเงินกู้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้รวม สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท และไม่ต้องมีหลักประกัน ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกหนี้ ยกตัวอย่างกรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท ปัจจุบันต้องจ่ายดอกเบี้ย 16% ต่อปี และผ่อนชำระขั้นต่ำ 8% ซึ่งเท่ากับ 8,000 บาทต่อเดือน เมื่อรีไฟแนนซ์มาเป็นเงินกู้ระยะยาว ธนาคารให้ผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 8.99% ต่อปี ทำให้ลดเงินงวดเหลือ 1,700 บาทต่อเดือนเท่านั้น2.

2.Re P-Loan : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan : P-Loan) ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล P-Loan ของสถาบันการเงิน หรือ Non-Bank อื่น ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์/รวมหนี้มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิมประมาณ 25% ต่อปี ลงเหลือ 15% ต่อปี วงเงินให้กู้ตามภาระหนี้คงเหลือของสัญญากู้เดิม สูงสุดไม่เกินรายละ 100,000 บาท และไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

3.Re-Nano : ธนาคารออมสินร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับรีไฟแนนซ์สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ที่ต้องการปลดหนี้สินเชื่อ Nano Finance ที่กู้ไปเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพ โดยสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันการกู้ ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์/รวมหนี้มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 33% ต่อปี ลงเหลือ 18% ต่อปี วงเงินให้กู้ตามภาระหนี้คงเหลือของสัญญากู้เดิม สูงสุดไม่เกินรายละ 200,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 8 ปี

4.Re-Home : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น วงเงินกู้ 1-5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมที่ประมาณ 6-7% ต่อปี ลงเหลือ 1.95% ในปีที่ 1 (ปีที่ 2 = 2.95% ปีที่ 3 = 3.95%) คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.95% ต่อปี พร้อมเงื่อนไขผ่อนต่ำ ปีที่ 1 ผ่อนชำระเงินงวดล้านละ 3,000 บาท/เดือน ปีที่ 2 ล้านละ 4,000 บาท/เดือน และปีที่ 3 ล้านละ 5,000 บาท/เดือน

อนึ่ง ธนาคารสนับสนุนนโยบายรัฐในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประชาชน ให้สามารถมีเงินเหลือใช้สอยดำรงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ รวมถึงส่งเสริมการปลูกฝังทัศนคติการกู้เงินเท่าที่จำเป็นและผ่อนไหว ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อรีไฟแนนซ์ “โครงการสินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เปิดให้ยื่นขอกู้ได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และจัดทำนิติกรรมสัญญาภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้แถลงนโยบายเพื่อยกระดับให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว

โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชน สินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบ และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน รวมถึงมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566)

กระทรวงการคลังขอรายงานความคืบหน้าประจำสัปดาห์ของผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามมาตรการสินเชื่อดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 18 เมษายน 2567 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 9,415 ราย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 450.79 ล้านบาท โดยมีจำนวนประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (11 เมษายน 2567) จำนวน 609 ราย รวมเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 24.24 ล้านบาท

อกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจข้างต้นแล้ว กระทรวงการคลังได้ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ(สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย โดยประชาชนที่สนใจขอกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 75 จังหวัด ได้ที่ www.1359.go.th

นอกจากนี้ นิติบุคคลใด (บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) ที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถดูข้อมูลรายการยื่นคำขออนุญาตได้ที่ www.1359.go.th เช่นกัน หรือโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1359”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img