วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ไฟฟ้าพลังน้ำ” แหล่งพลังงาน..คู่ชีวิต “คนไทย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ไฟฟ้าพลังน้ำ” แหล่งพลังงาน..คู่ชีวิต “คนไทย”

Hydroelectricity

Hydroelectricity หรือ Hydroelectric Power คือ กำลังไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากพลังน้ำ Hydropower ..

ในปี 2558 ไฟฟ้าพลังน้ำ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 16.6% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของโลก และคิดเป็น 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% ต่อปีต่อเนื่องไปในอีก 25 ปีข้างหน้า ..

ไฟฟ้าพลังน้ำ มีใช้งานอยู่ใน 150 ประเทศ ในหลากหลายรูปแบบ กำลังผลิตไฟฟ้าหลายขนาด โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากกว่า 33% ของทั่วทั้งโลก มาตั้งแต่ปี 2556 .. จีนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่ที่สุด โดยมีกำลังการผลิต 920 TWh ในปี 2556 ซึ่งคิดเป็น 16.9% ของการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ..

Hoover Dam ‘s 17 Main Hydroelectric Turbine Generators | Photo Credit: Hoover Dam / Tomalu / Fotolia

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำค่อนข้างต่ำ ทำให้มันเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สามารถแข่งขันได้ .. โรงงาน หรือสถานีผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มิได้ใช้เชื้อเพลิงเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ .. ต้นทุนโดยทั่วไปของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ขนาดใหญ่กว่า 10 MW ขึ้นไป คือเพียงประมาณ 3 ถึง 5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ..

นอกจากนี้ ด้วยเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขึ้นไป ยังเป็นแหล่งพลังงานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ยืดหยุ่นอย่างยิ่ง เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงปรับกำลังผลิตขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว ภายในเพียงไม่กี่วินาที เพื่อปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ..

รวมทั้ง เมื่อการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ แล้วเสร็จ ระบบการผลิต และกระบวนการจ่ายกระแสไฟฟ้า จะไม่ก่อให้เกิดของเสียโดยตรง และโดยทั่วไปแล้ว จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากมาย .. อย่างไรก็ตาม ในกรณีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีน้ำท่วมขังส่วนหนึ่งของป่าดงดิบ ทำให้พวกมันอาจสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทน Methane จำนวนมากสู่บรรยากาศได้เช่นกัน ..

การสร้างศูนย์ สถานี หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ บนเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสูญเสียพื้นที่ทำกิน มันอาจทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติของแม่น้ำที่เกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศฯ และอาจสร้างความเสียหายต่อรูปแบบการตกตะกอน และการกัดเซาะของลำน้ำสายเดิม ..

ทั้งนี้ การดำรงคงอยู่ของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และอ่างพวงในพื้นที่ ก็อาจทำให้ระบบนิเวศฯ ที่ถูกผู้คนทำลายสิ้นซากไปแล้วนั้น กลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเช่นกัน และนอกจากนั้น ในขณะเดียวกัน เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ก็ยังสามารถแก้ไขความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำหลาก ได้อีกด้วย ..

มันสามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากในช่วงฝนหนักไว้ มิให้น้ำท่าจำนวนมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่เมือง ชุมชน หรือพื้นที่การเกษตรได้ ขณะเดียวกันในฤดูแล้ง ก็จะมีแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร และการรักษาระบบนิเวศฯ อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งปริมาณการเก็บน้ำของแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี จะต้องถูกนำไปคำนวณตามหลักวิชาเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้คน และรวมถึงนำศักยภาพของมันไปผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ตลอดทั้งปีต่อไปด้วย ..

มันจึงเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ที่มีข้อดี ข้อได้เปรียบ อยู่มากมาย ซึ่งมิใช่เพียงใช้ผลิตกำลังไฟฟ้าเท่านั้น แต่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้คืนชีวิตให้แก่เกษตรกร เกิดการทำประมงน้ำจืดพื้นบ้าน สถานที่ท่องเที่ยว การพลิกฟื้นกลับมาของระบบนิเวศวิทยา ต้นไม้ และสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง มันยังเป็นปราการสำคัญในมาตรการป้องกันอุทกภัยในฤดูน้ำหลากได้อย่างเฉียบขาดอีกด้วย

ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มิใช่จะเป็นการทำลายระบบนิเวศวิทยา หรือก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เสมอไป .. การดำรงอยู่ของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สร้างความชุ่มชื้น และประ โยชน์ใหญ่หลวงในระบบนิเวศวิทยา มีตัวอย่างให้เห็นเชิงประจักษ์ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า วงจรของน้ำ Water Cycle ทำให้เกิดสมดุลธรรมชาติ และการฟื้นตัวของระบบนิเวศฯ ..

เมื่อพื้นที่ป่าถูกใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และดูจากตัวเลขแล้วเหมือนพื้นที่ผืนป่าจะลดลง แต่ปรากฏให้เห็นเป็นข้อเท็จจริงอยู่เนื่อง ๆ ว่า ป่า ต้นไม้ พืชพันธุ์หายาก และความหลากหลายในทางชีววิทยา บริเวณพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สัตว์ป่า และพืชหายากกลับมา ปลาในอ่างเก็บน้ำเพิ่มจำนวนขึ้น ระบบนิเวศวิทยาฟื้นตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ..

นอกจากนั้น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนจาก การทำเกษตร พืชสวน ประมงพื้นบ้าน เกิดระบบประปาหมู่บ้าน และระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน .. ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นจากความลึกมาก กว่า 20 เมตรเดิม เป็นความลึกเพียง 4-5 เมตร ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายตลอดทั้งปี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยคิดว่าจะเป็นไปได้ ..

ด้วยเหตุนี้ การที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับผืนป่า แหล่งน้ำ และช่วยกันปกป้องมัน การส่งเสริมให้ประชาชนคนในพื้นที่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ปลอดสารพิษตามแนวทางพระราชดำริฯ โดยมีการทำร้ายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดนั้น กลายเป็นมาตรการสำคัญที่สามารถหยุดยั้งการถางป่า เผาป่า และการทำไร่เลื่อนลอยของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างเฉียบขาด .. ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และผู้คนในพื้นที่ เมือง หมู่บ้าน ชุมชนที่ห่างไกล ได้รับการพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ..

ดังนั้น สรุปได้ว่า การบริหารจัดการที่เหมาะสมตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบของภาครัฐ ฝ่ายปกครอง ชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้คนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน เกษตรกร และผู้คนในพื้นที่เอง ..

ประเภท และรูปแบบของระบบไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลก ..

น้ำ เป็นแหล่งพลังงานสะอาดศักยภาพสูง ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำเสมอ นอกจากพลังงานในตัวของมันเองโดยโมเลกุลของมันประกอบขึ้นด้วยไฮโดรเจนอยู่ 2 ส่วนแล้ว .. การไหล การเคลื่อนที่ของมัน รวมทั้งคลื่นของมันนั้น เราสามารถนำพลังงานจลน์ Kinetic Energy เหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ผลิตกำลังไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ ในหลากหลายรูปแบบ หลายขนาด  ด้วยต้นทุนต่ำ และยังสามารถวางแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่วงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน หมู่บ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ได้อีกด้วย ..

ไฟฟ้าพลังน้ำ กลายเป็นแหล่งไฟฟ้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไม่กี่สิบปีหลังจากเจมส์ ฟรานซิส James Francis วิศวกรชาวอังกฤษ-ชาวอเมริกัน ได้พัฒนากังหันน้ำที่ทันสมัยเป็นแห่งแรก .. ในปีพ.ศ.2425 โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของโลก เริ่มดำเนินการในสหรัฐฯ ริมแม่น้ำฟอกซ์ Fox River ในแอปเปิลตัน Appleton, Wisconsin ..

จนถึงปัจจุบัน ระบบไฟฟ้าพลังน้ำ หรือการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำนั้น มี 4 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิม 3 ประเภท และรูปแบบใหม่ที่ใช้พลังงานจากคลื่น หรือจากพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง อีก 1 ประเภท .. เทคโนโลยีเหล่านี้ มักจะทับซ้อนกัน ตัวอย่างเช่น โครงการกักเก็บน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ ฝายยกระดับน้ำ .. มันมักเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของการสูบน้ำ การลักน้ำ การเติมน้ำ ระบายน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงโครงการที่อาศัยน้ำไหลผ่านในลำน้ำ แม่น้ำ หรือกำลังของคลื่นใต้น้ำในมหาสมุทร เพื่อการผลิตกำลังไฟฟ้า ..

บางระบบอาจมีขนาดเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าเขา อาจสามารถกักเก็บน้ำ และพลังงานได้บ้าง หรืออาจไม่ได้เลย และส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน การอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องในการรักษาระบบนิเวศวิทยาไปพร้อมด้วย ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไหลจากแม่น้ำ : สิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้น้ำไหลจากแม่น้ำ ผ่านลำคลอง ลำธาร และลำน้ำ เพื่อให้มันไปหมุนกังหันปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยปกติหากไม่มีแม่น้ำ การผันน้ำจะมีสถานที่จัดเก็บเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย ..

แม่น้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปีคือสุดยอด มันจะสามารถให้การจ่ายกำลังไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะโหลดพื้นฐาน โดยมีความยืดหยุ่นในการทำงานสำหรับความต้องการที่ผันผวนในแต่ละวัน ผ่านการไหลของน้ำที่ควบคุมโดยโรงงาน หรือเครื่องมือง่าย ๆ และจะอ่อนตัวมากขึ้นเมื่อติดตั้งระบบแบตเตอรี่ไว้พร้อมด้วย ..

ในกรณี ระบบขนาดเล็ก Micro Hydropower นั้น มันเหมาะสมมากในการใช้งานระบบในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลแบบแยกเดี่ยว Stand Alone นอกระบบสายส่ง Off-Grid ซึ่งสามารถเห็นตัวอย่างการติดตั้งระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ยอดเยี่ยมกระจายอยู่ในหุบเขามากกว่า 400 จุดในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ในหมู่บ้านบนเขาสูงด้วย Mini & Micro Hydro Energy ในประเทศเนปาล เป็นต้น ..

การจัดเก็บไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ : โดยทั่วไปเป็นระบบไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้เขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ พลังงานไฟฟ้า จะถูกผลิตขึ้นโดยการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำไหลผ่านกังหันใบพัด ซึ่งจะเปิดใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า .. ไฟฟ้าพลังน้ำให้โหลดพื้นฐานรวม อีกทั้งมีความสามารถในการปิด และเริ่มการทำงานอย่างรวดเร็วตามความต้องการของระบบ ด้วยโหลดสูงสุด สามารถให้ความจุเพียงพอที่จะทำงานโดยไม่ขึ้นกับการไหลเข้าของอุทกวิทยาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน รวมทั้งในอ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่นั้น สามารถให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ หรือสูบจ่าย : ระหว่างการจ่ายไฟฟ้าสูงสุด กำลังไฟฟ้าส่วนเกินจะขับเคลื่อนเครื่องสูบน้ำเพื่อการควบคุมน้ำซึ่งหมุนเวียนระหว่างอ่างเก็บน้ำด้านล่าง และอ่างด้านบน โดยเครื่องสูบน้ำซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากระบบในช่วงเวลาที่มีความต้องการต่ำ และเมื่อความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นเกินกำลังผลิตปกติ น้ำก็จะถูกปล่อยกลับสู่อ่างเก็บน้ำด้านล่างผ่านกังหันเพื่อผลิตกำลังไฟฟ้าเสริมให้เพียงพอกับความต้องการช่วง High Peak ในระบบสายส่งได้ ..

Hydropower Variable Speed Pumped Storage Power Plants: PSP | Photo Credit: GE Renewable Energy

ไฟฟ้าพลังน้ำนอกชายฝั่ง และ/หรือ Tidal Energy : กลุ่มเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ แม้ว่ายังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักในปัจจุบัน แต่มันกำลังเติบโตขึ้น ซึ่งมันประยุกต์ใช้ Kinetic Energy จากกระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง หรือพลังของคลื่นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล .. ทั้งนี้ มันมีข้อดีตรงที่สามารถคาดการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ และเชื่อถือได้สูงกว่าแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน รูปแบบอื่น ๆ ..

ความจริงเกี่ยวกับไฟฟ้าพลังน้ำ กับพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง จะเป็นอนาคตได้หรือไม่? ..

ไฟฟ้าพลังน้ำ Hydropower อาจไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เทคโนโลยีเก่าแก่นี้ ยังคงน่าสนใจอย่างยิ่ง .. ด้วยพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่กำลังมาแรง มันจะยังคงมีที่ว่างสำหรับการเติบโตของไฟฟ้าพลังน้ำอยู่หรือไม่ .. ไฟฟ้าพลังน้ำ มีข้อเสียที่ต้องแก้ไขอะไรอีกหรือไม่ และมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Hydropower อะไรรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาให้เลือกใช้ในอนาคตบ้าง .. อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า มันยังคงยิ่งใหญ่ และสร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติต่อไป .. นอกจากนี้ มันยังคงเป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของแหล่งพลังงานสะอาดคาร์บอนต่ำบนโลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน ..

การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำครั้งแรกสำหรับเครื่องมือกัดเชิงกล Mechanical Milling Machine ของชาวกรีกเมื่อหลายพันปีก่อน .. แต่จนกระทั่งปีพ.ศ.2425 โรงไฟฟ้าพลังน้ำเชิงพาณิชย์แห่งแรก เริ่มดำเนินการในวิสคอนซิน Wisconsin และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ‘ น้ำ ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานสะอาดอันทรงพลังที่ใช้ในการสร้างกำลังไฟฟ้าในระดับที่ยิ่งใหญ่ไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน และยังจะคงอยู่ในอนาคตต่อไป’ ..

และที่สำคัญ มันกำลังมีเทคโนโลยีสุดยอดรูปแบบใหม่ ๆ บางตัวที่พยายามเปลี่ยนแปลงระบบผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการประยุกต์ใช้พลังน้ำขึ้นน้ำลง และพลังของคลื่น ในระบบโลกได้อย่างน่าประทับใจ และมันกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ..

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นรูปแบบพลังงานหมุนเวียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณ 17% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก .. ตัวอย่างเช่น ในยุโรป ไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วนมากกว่า 341 TWh ต่อปีซึ่งเท่ากับประมาณ 36% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน .. จนถึงปี 2562 นับเป็นแหล่งพลังงานที่กว้างขวางที่สุดในบรรดาพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯและแคนาดา คิดเป็น 59.6%

เทคโนโลยีไฟฟ้าพลังน้ำรูปแบบใหม่ New Hydropower Technologies ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ได้แก่ พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง Tidal Energy ซึ่งใช้การเคลื่อนไหวของน้ำตามธรรมชาติในมหาสมุทร เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากใต้น้ำ .. แรงดึงดูดจากทั้งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ส่งผลให้เกิดน้ำขึ้นสูง และต่ำ ซึ่งใช้ในการหมุนกังหันที่วางอยู่บนพื้นมหาสมุทร ..

สิ่งนี้รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก เนื่องจากไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ หรือเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำ .. บริษัท Simec Atlantis เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจกังหันใต้น้ำซึ่งคล้ายกับกังหันลมมาก แต่อาจมีขนาดเล็กกว่ามากเนื่องจากความหนาแน่นของน้ำสูงกว่าเมื่อเทียบกับอากาศ..

ระบบต้นแบบทดสอบที่ติดตั้งใน Strangford Narrows ประเทศไอร์แลนด์ ในปี 2008 ประกอบด้วย กังหันใบพัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตรจำนวน 2 ตัวที่มีความจุ 0.6 MW ต่อหนึ่งตัว .. กังหันลมที่มีกำลังเทียบเท่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร .. ในขณะที่โครงการ Strangford Narrows ในยุคเริ่มต้น ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง .. มันทำงานได้เพียง 15% ของกำลังการผลิตที่คาดหวังไว้เท่านั้น แต่มันก็เป็นเพียงต้นแบบ และผลการทดลองในช่วงนั้น ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการแก้ไขในอนาคต ..

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีกังหันใต้น้ำล่าสุดของพวกเขาดีขึ้นอย่างมาก .. กังหันที่ติดตั้งระหว่างเกาะ Stroma และชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ในช่วงโครงการ MayGen มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 0.6 MW เป็น 1.5 MW .. ซึ่งมากกว่าเดิมเกือบสามเท่า และมันทรงพลังอย่างมากด้วยกังหันขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร เท่ากับขนาดกังหันใบพัดที่ติดตั้งใน Strangford Narrows ก่อนหน้านี้ ..

นอกจากนี้ ยังพบตัวอย่างที่น่าสนใจในการประยุกต์ใช้พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง มาใช้ผลิตกำลังไฟฟ้าในสหรัฐฯ จากโครงการ Roosevelt Island Tidal Energy : RITE ซึ่ง Verdant Power ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 ใน East Channel ของ East River ของนิวยอร์ก .. ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนลำดับที่สามของการทดสอบ ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบต้นแบบขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ด้วย ..

โครงการนี้ ใช้พื้นที่ 21.6 เอเคอร์ รวมทั้งกำลังผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำขึ้นน้ำลงนี้ จะมีการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายสายส่ง Grid ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย .. นิวยอร์ก มีแหล่งทำเลที่ดีและเหมาะสมหลายแห่งในการสร้างกระแสน้ำ เช่น East River , St. Lawrence และแม่น้ำไนแอการา Niagara Rivers .. โดยรวมแล้ว แหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วในรัฐนิวยอร์กรัฐเดียว มีศักยภาพในการสร้างพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานจลน์จากน้ำขึ้นน้ำลง Tidal Energy มากถึงประมาณ 500-1,000 MW ..

ทั้งนี้ แม้ว่า Tidal Energy จะเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดกะทัดรัดและคาดเดาได้ แต่กระแสน้ำก็มีข้อบกพร่องบางประการ คือ ขาดการวิจัยอย่างละเอียด กับความกังวลเกี่ยวกับการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างยังคงสูง..ด้วยโครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เรากำลังเริ่มจะได้รับคำตอบเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตของเทคโนโลยีพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง ในไม่ช้า ..

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธรรมชาติของพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานผันแปร จึงยังเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันที่จะรับประกันความเสถียร และความคุ้มค่า กับต้นทุน Integration Cost ในระบบโครงข่ายสายส่ง Electrical Grid แบบดั้งเดิมที่ใช้งานอยู่มากมายในปัจจุบัน ..

ดังนั้น ไฟฟ้าพลังน้ำแบบเก่า จึงยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายลดการใช้แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนไปมุ่งเน้นการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ .. ซึ่งภาครัฐ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบต่อไป .. เทคโนโลยี และแนวทางรูปแบบใหม่ ๆ จะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดได้ในอนาคต .. ซึ่งมันเป็นไปได้แน่นอน ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 ประเภท อยู่คู่เมืองไทย ..

ทรัพยากรน้ำ นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยในการหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งการอุปโภค และบริโภคของคนไทยมาช้านาน รวมไปถึงน้ำยังใช้ในการผลิตไฟฟ้า สร้างแสงสว่างให้คนไทยได้ใช้กันอย่างมีความสุขมายาวนานมาก กว่าครึ่งศตวรรษ ..

เขื่อนภูมิพล Bhumibol Dam | Photo Credit: EGAT

การใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำ มีมาตั้งแต่อดีต ทว่าสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยพลังน้ำนั้น มีการพัฒนาขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 .. สำหรับในประเทศไทยเองนั้น มีการใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจังตั้งแต่ ปี 2507 โดยการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ..

การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำนั้น มีข้อดีมากมาย .. ไฟฟ้าพลังน้ำ คือ พลังงานสะอาดที่อยู่คู่ชีวิตคนไทยมายาวนาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ปลดปล่อยมลพิษ และมีความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิตสูง สามารถ Start Up โรงไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว .. เขื่อนจึงถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการกู้ระบบไฟฟ้า Black Start หากเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง Blackout ..

Black Start คือ การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าด้วยตัวเอง เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าไปจ่ายให้โรงไฟฟ้าอื่น ซึ่งไม่สามารถ Black Start ตัวเองได้ แล้วจึงค่อยทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหลักของระบบจำหน่าย เพื่อส่งต่อไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า .. การ Black Start เป็นขั้นตอนหนึ่งในแผนการนำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนนั้น จึงมักใช้จากพลังน้ำมาเสริมช่วงที่ความต้องการสูง ..

อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เราเห็นเป็นภาพของเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ทุกแห่งจะมีวิธีการผลิตไฟฟ้าเหมือนกันทั้งหมด เนื่องจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ติดตั้งอยู่ตามเขื่อนต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำ Conventional .. โรงไฟฟ้าประเภทนี้ เป็นโรงไฟฟ้าที่น่าจะเห็นกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด โดยมีหลักการทำงาน คือ กักเก็บน้ำที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อน และเมื่อมีความต้องการไฟฟ้าเกิดขึ้นก็จะปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำผ่านกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สำหรับลักษณะของโรงไฟฟ้าประเภทนี้จำเป็นต้องจะมีความสูงระหว่างอ่างเก็บน้ำ และท้ายน้ำ ..

โรงไฟฟ้าประเภทนี้ ให้ความสำคัญต่อการชลประทานเป็นหลัก โดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เป็นผู้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในแต่ละปี ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเป็นจุดประสงค์รอง โรงไฟฟ้าประเภทนี้ ในประเทศ ไทยมีหลายแห่ง เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิต์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี Run-of-the-River .. โรงไฟฟ้าประเภทนี้ ไม่ได้มีการกักเก็บน้ำไว้ทางต้นน้ำ แต่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อน้ำไหลผ่านก็จะผลิตไฟฟ้าได้ทันที ซึ่งหมายถึงว่า หากมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มากเกินไปก็จะไม่สามารถกักเก็บไว้ได้ หากไม่ติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงานไว้พร้อมด้วย อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ..

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ Pumped-Storage .. การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำประเภทนี้ เปรียบเสมือนเป็นแบตเตอรี่พลังน้ำ ซึ่งโดยหลักการการผลิตไฟฟ้านั้นเหมือนกับโรงไฟฟ้าจากอ่างเก็บน้ำ ทว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทนี้ จะสามารถสูบน้ำกลับขึ้นไปที่อ่างเก็บน้ำด้านบนได้ เพื่อปล่อยน้ำลงมาผลิตไฟฟ้าอีก วนแบบนี้เรื่อยไป โดยโรงไฟฟ้าในไทยที่มีระบบนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับทุกเครื่อง .. เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 และเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 – 5 เป็นต้น ..

ทั้งนี้ การเลือกว่าจะติดตั้งโรงไฟฟ้าประเภทใดนั้นต้อง คำนึงถึงสภาพภูมิสังคมในพื้นที่ ภูมิประเทศที่ก่อสร้าง และการชลประทานด้วย เนื่องจาก การสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางขึ้นไปนั้น ต้องใช้พื้นที่มาก และต้องเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมด้วย ..

สรุปส่งท้าย ..

ไฟฟ้าพลังน้ำ.. เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่เก่าแก่ และใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดแหล่งหนึ่งที่สะอาด เชื่อถือได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง .. มันเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สะอาดที่สุดที่นิยมติดตั้งใช้งานลึกเข้าไปในหุบเขาแยกเดี่ยว หรือพื้นที่ห่างไกล และปัจจุบัน ไฟฟ้าพลังน้ำ คิดเป็นประมาณ 49% ของการผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดทั่วโลก ..

คาดว่า ไฟฟ้าพลังน้ำ จะยังคงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป และมีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณคาร์บอนในระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งความยืดหยุ่นอ่อนตัวของระบบ .. การติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก เมื่อปี 2562 พุ่งสูงถึง 1,307 GW .. และกำลังดีดตัวกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในปี 2563-2565 ..

กำลังไฟฟ้าพลังงานน้ำสุทธิประจำปีทั่วโลกมากกว่า 18 GW ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และ 2565 เนื่องจากการว่าจ้างโครงการหลักขนาดใหญ่สองโครงการในประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตรวมกัน 26 GW .. หากไม่รวมประเทศจีนการเพิ่มไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก คาดว่าจะค่อนข้างคงที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ..

การเติบโตนำโดยเอเชียแปซิฟิก ขับเคลื่อนโดยความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงไฟฟ้าในระบบสายส่งที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และการค้าส่งกระแสไฟฟ้าในภูมิภาค .. นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีการเพิ่มเติมจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ใน โคลอมเบีย อาร์เจนตินา เอธิโอเปีย ไนจีเรีย แองโกลา และตุรกี .. ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก กระตุ้นการเติบโตในบราซิล ในขณะที่ความยืดหยุ่นของระบบต้องการการขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำที่เพิ่มเข้ามาในยุโรป ..

จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่ที่สุดในโลก และดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดสามในสิบแห่งของโลก รวมถึงโครงการ Three Gorges ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ..

สำหรับในประเทศไทย การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่นั้น ยากเย็นแสนเข็ญอย่างยิ่ง .. ประเทศไทย ยังคงปล่อยน้ำที่ควรจะเก็บไว้ใช้งานได้ทิ้งทะเลไป หรือระบายทิ้งออกไปนอกประเทศ ปีละอย่างน้อย 700,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ต่อเนื่องมานานแล้ว .. มันคือ 88% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกใส่ประเทศไทยต่อปี .. ประเทศไทยเรา เก็บน้ำฝนไว้ใช้งานจริง ๆ ในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ได้เพียงประมาณ 12% เท่านั้น มันน่าเสียดายอย่างยิ่ง ..

ขณะที่ในฤดูแล้ง และห้วงฝนทิ้งช่วง พบพื้นที่มากกว่า 30% ของประเทศ จะประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอย่างหนักต่อเนื่อง 3 เดือน .. นี่ยังมิได้กล่าวถึงความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ขณะที่ภาครัฐมุ่งการใช้พลังสะอาดคาร์บอนต่ำ และลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ .. ดังนั้น ไฟฟ้าพลังน้ำ ยังคงเป็นคำตอบของประเทศที่แสดงบทบาทสำคัญอยู่ต่อไป การผนวกมันไว้ในสมการความมั่นคงทางพลังงานของชาติด้วยนั้น จึงเป็นความจำเป็น ..

ประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมาย และนโยบายในการพัฒนาภาคพลังงาน สำหรับปี 2578 โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่น รวมทั้งไฟฟ้าพลังน้ำ ..

ไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย เป็นรูปแบบพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรวมกว่า 7,000 MW ที่ติดตั้งในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 26 แห่งในประเทศ .. เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีกังหัน 8 ตัว กำลังการผลิตรวม 749 MW .. เขื่อนแห่งนี้ เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2507 และดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ..

ในปี 2543 การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีมากถึงเกือบ 3 GW และการพัฒนาก็ได้ชะลอตัวลงเนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ การคัดค้านการก่อสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้วยข้อมูลที่บางส่วนไม่ถูกต้องนักของกลุ่มนักเคลื่อนไหว ทำให้ภาครัฐหันไปมุ่งไปสู่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแทน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งนี้ในแผนงานของหน่วยเกี่ยวข้อง มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในอัตราที่เหมาะสมหรือไม่ จึงยังเป็นที่สงสัย  ..

ประเทศไทย ยังนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ผลิตโดยสถานีไฟฟ้าในประเทศรอบบ้าน ตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทย 7% ของกำลังผลิตรวมของประเทศ จาก ลาว เมียนมาร์ และจีน ..

นอกจากนี้ เพื่อเสริมโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศไทย กฟผ.มีแผนจะสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำบนเขื่อนกักเก็บน้ำ 8 แห่งทั่วประเทศโดยมีกำลังการผลิตรวม 1 GW ..

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นนำของโลก การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง รวมทั้งอ่างพวง ด้วยแผนงานชลประทานระบบลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคมในพื้นที่ และสร้างกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปพร้อมด้วยนั้น เป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่มั่นคง และยั่งยืนของประเทศ .. การก่อสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ยังคงมีความจำเป็น .. มันมิได้เป็นตัวการทำลายระบบนิเวศ วิทยา หรือก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เสมอไป ..

การดำรงคงอยู่ของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และอ่างพวงในพื้นที่ ก็อาจทำให้ระบบนิเวศฯ ที่ถูกผู้คนทำลายสิ้นซากไปแล้วนั้น กลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเช่นกัน .. เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ก็ยังสามารถป้องกันอุทกภัยได้อีกด้วย .. มันสามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากในช่วงฝนหนักไว้ มิให้น้ำท่าจำนวนมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เมือง ชุมชน หรือพื้นที่เกษตรกรรมได้ .. ขณะเดียวกันในฤดูแล้ง ด้วยการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำในท้องถิ่น และชุมชนเอง ก็จะส่งผลให้ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ มีแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค เพื่อการ เกษตร และการรักษาระบบนิเวศฯ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ..

สิ่งที่คนไทยได้เห็นตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพลฯ เมื่อปี 2507 พบว่า ป่า ต้นไม้ พืชพันธุ์หายาก และความหลากหลายในทางชีววิทยา บริเวณพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ .. สัตว์ป่า และพืชหายากกลับมา ปลาในอ่างเก็บน้ำเพิ่มจำนวนขึ้น ระบบนิเวศวิทยาฟื้นตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ..

นอกจากนั้น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนจากการทำประมงพื้นบ้าน เกิดระบบประปา และระบบจ่ายไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ระดับน้ำใต้ดินจากเดิมลึกลงไปมากกว่า 20 เมตร กลับกลายเป็นลึกเพียง 4-5 เมตร ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำใต้ดินด้วยเพียงการขุดบ่อน้ำตื้นง่าย ๆ เท่านั้น จึงส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายตลอดทั้งปี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยคิดว่ามันจะเป็นไปได้ ..

ดังนั้น หากประเทศไทย ยังต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และยังคงยืนยันมุ่งมั่นที่จะใช้แหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน มากกว่า 30% ตามแผนงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศให้ได้ภายในปี 2578 นั้น ..

ไฟฟ้าพลังน้ำ จะต้องเป็นหนึ่งในแหล่งพลังหมุนเวียนสำคัญที่แสดงบทบาทหลักในกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ .. โครงการก่อสร้าง เขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นความจำเป็นของชาติที่จะไม่เร่งพิจารณาดำเนินการต่อเนื่องต่อไปนั้นไม่ได้ ..

การชี้แจงเหตุผล รวมทั้งประโยชน์ต่าง ๆ ที่ประชาชนคนไทยจะได้รับ เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบและเข้าใจ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก .. ภาครัฐต้องใช้ความพยายามให้มากกว่านี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ไม่เพียงเกิดผลดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเกษตรกรรม รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น ความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ก็จะได้รับการประกันไปพร้อมด้วยเช่นกัน ..

…………………………..

คอลัมน์ : Energy Key

By โลกสีฟ้า

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Hydropower: More Efforts Needed | IEA

Hydropower: Hydropower is expected to remain the world’s largest source of renewable electricity generation | IEA

Types of Hydropower

Bhumibol Dam

ข้อมูลโรงไฟฟ้าและเขื่อน | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Hydropower 101: More than a Century of Clean Energy in the Valley :-

Hoover Dam | An Historic Hydro Power Plant :-

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img