วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเปิดความเห็นธปท.ถึงครม.ปมเงินดิจิทัล ก่อหนี้มากกระทบภาระการคลังระยะยาว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดความเห็นธปท.ถึงครม.ปมเงินดิจิทัล ก่อหนี้มากกระทบภาระการคลังระยะยาว

‘แบงก์ชาติ’ ส่งความเห็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ ต่อ ครม.ก่อหนี้มาก กระทบภาระการคลังระยะยาว ไล่จี้ให้ทบทวนแทบทุกประเด็น

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เม.ย.2567 ตามที่ขอความเห็นมา โดยผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคต โดยสาระสำคัญที่ระบุในเอกสาร ประกอบด้วย


ความจำเป็น โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ควรดูแลครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน ซึ่งดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณเพียง 150,000 ล้านบาท และควรทำแบบแบ่งเป็นระยะ เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง โดยโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น และการเพิ่มวงเงินกู้งบปี 68 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลก ความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐควรนำงบ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


ส่วนแหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะมาจากงบประมาณรายจ่าย และกู้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แบงก์ชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และแบงก์ชาติ เนื่องจากยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึง 800,000 ล้านบาท


แบงก์ชาติ ยังแสดงความห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยเห็นว่าควรใช้ ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด


พร้อมเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้า เพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทสินค้าต้องห้าม


โดยสรุป แบงก์ชาติ มีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการมีรายละเอียด ซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทบต่อภาระการคลังในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ จึงต้องรัดกุมอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวน และนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img