‘กรมควบคุมโรค’ เตือน 1-19 เม.ย.ปีนี้ พบผู้เสียชีวิตจาก Heat stroke (โรคลมร้อน) แล้ว 30 ราย แนะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กและหญิงตั้งครรภ์ ลด-หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวัน หมั่นสังเกตอาการ
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67กรมควบคุมโรคแถลงสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ที่ต้องเฝ้าระวังโดย นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เฝ้าระวังในช่วงนี้
โรคที่เกิดในช่วงฤดูร้อน สถานการณ์ ‘โรคลมร้อน’ หรือ Heat stroke โดยข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบ ปี 2566 ทั้งปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน 37 ราย ขณะที่ปีนี้ ข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 19 เมษายน 2567 พบมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อนแล้ว 30 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังนั้น ในช่วงนี้ แนะนำกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ รวมทั้งเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อน ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวัน และหมั่นสังเกตอาการ หากพบอาการหน้ามืดเวียนศรีษะ คลื่นไส้ และหายใจเร็ว ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด หรือพาไปพักในที่เย็น อากาศถ่ายเทสะดวก หรือหากหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่คาดการณ์ในช่วงหลังสงกรานต์จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั่งนี่สำหรับปี 2567 คาดผู้ติดเชื้อ 649,520 รายมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 38,672 รายและผู้เสียชีวิต 852 ราย ซึ่งตามคาดการณ์จะสูงกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้าน พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์ ‘ไข้หวัดใหญ่’ พบแนวโน้มผู้ป่วยโดยรวมลดลง แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0 ถึง 14 ปี ที่พบป่วยมากสุด และอาจเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งจะเริ่มเข้าสู่การเปิดภาคเรียน โดยข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 13 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในช่วงอายุศูนย์ถึงสี่ปีจำนวน 633 ราย , ช่วงอายุห้าถึงเก้าปีจำนวน 669 ราย และช่วงอายุ 10 ถึง 14 ปีจำนวน 424 ราย
‘โรคไข้เลือดออก’ ในปี 2567 สถานการณ์มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจากปี 2566 โดยพบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 1.7 เท่า ขณะมีผู้ป่วย 24,108 ราย ผู้เสียชีวิต 27 ราย (ข้อมูลถึงวันที่ 17 เมษายน 2567)