รมว.กห. เร่งสร้างผลงาน ก่อนจะถูกปรับออกจากตำแหน่ง ในการประชุมสภากลาโหม เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ก่อนนำเสนอรัฐบาล เหตุนักการเมือง หวั่น “ทหาร” ยึดอำนาจ”
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 27 เม.ย.67 สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ ก็ดำเนินต่อไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่ได้รับมอบหมาย และมีข่าวจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี “รัฐบาลเศรษฐา 2” เก้าอี้อื่นดูจะไม่น่าสนใจเท่าเก้าอี้ รมว.กลาโหม ที่มีข่าวรายวันว่า นายกรัฐมนตรีจะมานั่งเอง วันต่อมาก็มีข่าวว่า ยังคงเป็น “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม อยู่ที่เดิม…ใครจะไป ใครจะมาถึงเวลาก็รู้ ไม่ต้องลุ้น งานนี้คนเขียนบทกำหนดไว้แล้ว….??
@@@…….“สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม จะอยู่หรือไป ยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ในการประชุมสภากลาโหม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ที่จะเสนอรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป มีสาระสำคัญ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลังทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ รวมทั้ง กำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ 3 ประการ อาทิ ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรง หรือทางอ้อม และยังเสนอให้ ยกเลิกศาลจังหวัดทหาร มาพร้อมด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มองว่า การปรับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากสภากลาโหม ในครั้งนี้ มีความเหมาะสมตามสถานการณ์ และน่าจะได้รับการยอมรับจากสาธารณะชนทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์พลเรือนทหาร และลดความหวาดระแวงของฝ่ายการเมืองที่มีต่อฝ่ายทหาร และเหล่าทัพได้ในระดับหนึ่ง
@@@…….ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีการปฏิวัติรัฐประหารมาแล้ว 25 ครั้ง ขึ้นอยู่กับวืธีการนับด้วย ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ ทั้งนี้ การรัฐประหารส่วนหนึ่ง แม้จะเกิดขึ้นจากความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน และการทุจริตคอรัปชั่นแล้ว ประมาณมากกว่าครึ่งของครั้งที่ประสบความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นจากการแทรกแซงกิจการภายในกองทัพอย่างไร้ความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมืองก่อน แต่สุดท้ายก็จบด้วยการถูกแทรกแซงกลับด้วยกำลังจากฝ่ายทหารนั่นเอง ปัจจุบัน “ฝ่ายการเมือง” ยังคงหวาดระแวงฝ่ายทหารเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจาก “ฝ่ายทหาร” คือหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษในการเป็นขั้วอํานาจที่ผูกขาด และถือครองอาวุธสงครามของชาติที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลา ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือ ความมั่นคงของชาติด้านการป้องกันประเทศ ดังนั้น ความพยายามในการแทรกแซงกิจการภายในกองทัพจากฝ่ายการเมือง เพื่อให้มั่นใจว่า อํานาจทางการเมืองของฝ่ายการเมืองจะปลอดภัยจากฝ่ายทหาร จึงมักกลายเป็นเรื่องปกติที่อันตราย ในทางกลับกัน ฝ่ายทหารที่ต้องปกครองบังคับบัญชา หน่วยกําลังที่ถืออาวุธร้ายแรง รวมทั้งต้องพาทหารหาญออกไปสละชีพเพื่อชาติให้ได้ ต้องการความมั่นใจว่า ทหารจะปฏิบัติตามคําสั่งได้ แม้จะต้องตกอยู่ในอันตรายจึงไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งอาจทําให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา และส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในการปฏิบัติการทหาร ซึ่งอาจหมายถึง เส้นทางไปสู่การสิ้นชาติ
@@@…….ในทัศนะของฝ่ายทหารแล้ว การที่หัวหน้าฝ่ายการเมืองมีอํานาจในการเป็นผู้เลือกหัวหน้าฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ในฐานะทหารเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร และของรัฐนั้น น่าจะเพียงพอแล้ว สําหรับ ระบบการควบคุมทหารโดยพลเรือน (Civilian Control of the Military) การแทรกแซงกิจการภายในกองทัพเกี่ยวกับการปกครอง และการบังคับบัญชา การสั่งใช้กำลังทหารในสถานการณ์ที่ไม่ควรใช้ และการสั่งให้ทหารถอยออกมาในสถานการณ์ที่ไม่ควรถอย รวมทั้ง การที่ฝ่ายการเมืองซึ่งไม่เคยรู้เรื่องเข้าใจในธรรมชาติของการปฏิบัติการทางทหารของกำลังพร้อมรบ เข้ามาแทรกแซงบริหารจัดการกองทัพ เป็นสิ่งซึ่งฝ่ายทหารจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างความเข็มแข็งของฝ่ายการเมือง ตั้งแต่ปี 2541 กับสังคมไทยในยุคข้อมูลข่าวสาร ทําให้ฝ่ายทหารไม่สามารถแสวงหาความชอบธรรม ในการแทรกแซงกลับด้วยกําลังได้จนเมื่อความขัดแย้งทางสังคมขยายตัวขึ้นจากภาคประชาชน การปฏิวัติรัฐประหารจึงได้เกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น การปรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.ครั้งนี้ คาดว่า ระยะห่างในวิธีคิดที่ลดลง จะทำให้ฝ่ายการเมือง และฝ่ายทหาร มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นมาพร้อมด้วย
@@@…….การควบคุมโดยพลเรือน The Civilian Control หรือ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การควบคุมทหารโดยพลเรือน Civilian Control of the Military ทหารยอมรับในหลักการดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน หากความหมายของคําว่า “การควบคุมโดยพลเรือน” เป็นไปตามทฤษฎีที่ “แซมมวล ฮันติงตัน” (Samuel Huntington) เสนอไว้ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีมักเป็นเพียงอุดมคติที่แตกต่างจากในทางปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้น ผู้นําทางการเมืองที่เป็นพลเรือน มักจะหวาดระแวงทหาร ไม่ไว้ใจทหาร จึงพยายามทําทุกอย่างเพื่อลดอํานาจทางการเมืองของทหารด้วยการเข้าไปแทรกแซงกิจการทางทหารอย่างไร้ขอบเขต ตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งโยกย้ายทหาร นักการเมืองที่เป็นพลเรือน พยายามที่ผลักดันบุคคลใกล้ชิด หรือญาติมิตรของตนให้ได้รับตําแหน่งสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตําแหน่งที่คุมกําลัง ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในความมั่นคงของตน และพวกพ้องว่าจะไม่ถูกทหารกระทําการปฏิวัติรัฐประหาร การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในกองทัพอย่างไร้ความรับผิดชอบนี้ ส่งผลกระทบต่อขวัญและกําลังใจของทหารอย่างยิ่ง นอกจากจะสร้างความงุนงง สงสัยในชุมชนทหารแล้ว ยังทําให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมขึ้นกับทหาร ที่ตลอดชีวิตการรับราชการได้พยายามไต่เต้าขึ้นมาตามลําดับชั้นด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่หากวันหนึ่งฝ่ายการเมืองผู้มีอํานาจเพียงข้ามคืน เข้ามามีอิทธิพลทําให้เส้นทางชีวิตการรับราชการของทหารที่ต้องใช้เวลาสั่งสมมายาวนานตลอดชีวิตต้องเปลี่ยนไป
@@@…….ความสามารถในการแทรกแซงกิจการทหารของฝ่ายการเมือง และนักการเมืองพลเรือนเหล่านี้เอง ที่ทําให้ทหารบางส่วนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ พยายามเข้าไปใกล้ชิดตีสนิทกับนักการเมือง รับใช้นักการเมือง โดยมุ่งหวังว่าจะได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้า ได้รับตําแหน่งที่สําคัญๆ โดยที่ไม่ต้องออกแรง การที่องค์กรทหารได้บุคคลลักษณะนี้มาเป็นผู้นําทําให้เกิดปัญหาแก่องค์กรอย่างมาก กระทบต่อขวัญกําลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชา ทําเกิดการเลียนแบบแก่ทหารคนอื่นๆ กระทบต่อวัฒนธรรมองค์กร และเป็นอุปสรรคที่สําคัญต่อการเป็น ทหารอาชีพ Professional Military ทั้งนี้ หากถามทหารว่า ท่านเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ ก็จะได้รับคําตอบว่า “เชื่อมั่น” แต่หากถามว่า ทหารพร้อมจะพลีชีพ เพื่อปกป้องประชาธิปไตยหรือไม่ ก็จะพบคําตอบที่กํากวม และส่วนใหญ่อาจจะตอบว่า “ไม่” ฝ่ายทหารจะไม่พลีชีพเพื่อปกป้องประชาธิปไตย แต่พร้อมที่จะต่อสู้และสละชีพเพื่อปกป้องประเทศชาติแน่นอนไม่มีข้อสงสัย ทั้งนี้ ท่าทีของฝ่ายทหารที่จะดําเนินการทุกอย่างหากพวกเขาเห็นว่า เพื่อประโยชน์ต่อความมั่งคงของประเทศ ซึ่งแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจนมาโดยตลอด
@@@…….การควบคุมโดยพลเรือน The Civilian Control ต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ทหารยอมที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน แต่ทหารไม่พร้อมที่จะให้ฝ่ายการเมือง เข้าแทรกแซงในกิจการภายในกองทัพ การแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร ของเหล่าทัพเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล เพื่อให้การสนองตอบนโยบายของรัฐบาล ดําเนินไปอย่างราบรื่นนั้น เป็นสิ่งที่ทหารเห็นด้วย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมที่ยอมรับได้ ในขณะที่ ตําแหน่งทางทหารอื่นๆ กองทัพควรที่จะเป็นผู้พิจารณา บริหารจัดการเอง มิใช่ใบสั่งจากฝ่ายการเมือง
@@@…….ความต้องการความเป็นอิสระในการบริหารองค์กรของทหาร จะยังคงมีอยู่ต่อไปแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ฝ่ายทหารจะอยู่ในคราบของทหารอาชีพหรือไม่ จึงมิใช่ด้วยการแทรกแซงกิจการภายในกองทัพ แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการคัดสรรผู้นําทหารสูงสุดที่เหมาะสมและเป็นทหารอาชีพของฝ่ายการเมืองที่ถืออํานาจรัฐอยู่แล้วนั่นเอง ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงมองว่า เรื่องราวที่กล่าวถึงนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ฝ่ายการเมืองจะต้องทราบความจริงในประวัติศาสตร์นี้ เพื่อให้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่สวยงามในประเทศไทย สามารถเดินหน้าต่อไปตามที่คาดหวังได้สำเร็จในที่สุด
@@@…….อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของประเทศ คือ เรื่องสำคัญยิ่งยวดของชาติ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ฉบับล่าสุดนี้ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาฯ ในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงคาดหวังว่า รัฐสภาฯโดยคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย จะพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ รอบด้าน รัดกุม เพื่อให้ความมั่นคงของชาติได้รับการประกันอย่างยั่งยืนตราบนานเท่านานต่อไป
@@@…….กองทัพเรือ….พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ อำนวยการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 ด้วยตนเอง โดยมี พล.ร.อ. วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของศูนย์ปฏิบัติการกองกองทัพเรือ รวมถึงกำลังพลจากฝ่ายต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ เข้าร่วมการฝึก ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยในปีนี้ใช้วงรอบการฝึก 1 ปี และใช้สถานการณ์ฝึกป้องกันประเทศด้านใต้ซึ่งจะทำการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ตามสถานการณ์ที่ถูกกำหนดขึ้น
@@@…….สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 นี้ มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบกโดยแบ่งการฝึกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) มีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกการควบคุมบังคับบัญชา และทดสอบแนวความคิดในการใช้กำลังและหลักนิยมต่าง ๆ ของหน่วยบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ และ 2. การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (Field Training Exercise : FTX) ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่าง ๆ อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และการป้องกันฝั่ง ซึ่งกำลังทางเรือต้องฝึกการปฏิบัติทางยุทธวิธีตามสาขาปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ การยกพลขึ้นบก รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสารและสงครามไซเบอร์ โดยในครั้งนี้จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon Block 1C ในทะเลอ่าวไทย และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน อีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วย และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย
………………………………….
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”