วันศุกร์, พฤศจิกายน 1, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาทแข็ง” เฟดตรึงดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็ง” เฟดตรึงดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังดอลลาร์อ่อน เฟดตรึงดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด ขณะที่ราคาทองคำปรับฐานลง 40 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ 30 เมษายน ค่าเงินบาทได้ผันผวนในกรอบที่กว้างพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 36.94-37.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงวันหยุด วันแรงงานของไทยและหลายประเทศ ด้วยสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เบาบาง อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างกังวลว่า เฟดอาจส่งสัญญาณในโทน Hawkish มากขึ้น

นอกจากนี้ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลงยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับฐานหนักราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทได้ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาผสมผสาน กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังได้ดำเนินต่อไปในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และไม่มีการส่งสัญญาณในโทน Hawkish อย่างที่ตลาดกังวล อีกทั้งประธานเฟดก็ย้ำว่า เฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง (ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาส 36% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้) และภาพดังกล่าวก็หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นไม่น้อยกว่า +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นได้ดี หลังผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ AMD -8.9%, Nvidia -3.9% ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.34%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวลดลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาผสมผสาน และความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดที่คลี่คลายลงบ้าง แต่โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.64% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปีสหรัฐฯนั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาผสมผสาน ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเยน (JPY) จากระดับ 157.5 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 153 เยนต่อดอลลาร์อย่างรวดเร็ว (ก่อนที่เงินเยนจะอ่อนค่าลงเข้าใกล้ระดับ 156 เยนต่อดอลลาร์)

ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่มีผลมาจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถว 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.5-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซน 2,290 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในการทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งจะช่วยในการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯได้และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองมากนัก

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้เงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ธีม US Exceptionalism ได้อ่อนกำลังลดชัดเจน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าคาดทำให้เราประเมินว่า โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังอยู่แถวช่วง 36.80-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า

อนึ่ง ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เรายังคงมองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในช่วงสัปดาห์หยุดยาว Golden Week ทำให้สภาพคล่องในตลาดนั้นเบาบางลงชัดเจน และเหมาะต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะล่าสุด โมเมนตัมเงินดอลลาร์ได้แผ่วลง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ส่วนผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.15 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img