วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาท''กลับทิศอ่อนค่า จับตาประชุมธนาคารกลางสวีเดน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาท”กลับทิศอ่อนค่า จับตาประชุมธนาคารกลางสวีเดน

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 36.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังดอลลาร์แข็ง ตลาดส่วนใหญ่ลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า จับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสวีเดน

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.89 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.79-36.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนหลักมาจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งล่าสุดได้อ่อนค่าแตะระดับ 154.7 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลงบ้าง ส่วนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ทำให้ราคาทองคำ (Spot Gold) ยังคงแกว่งตัวแถวโซนแนวรับ 2,315 ดอลลาร์ต่อออนซ์

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าที่อาจกลับมากดดันบรรยากาศในตลาดได้ หากออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -1.7% หลังมีข่าวว่าทาง Apple +0.4% เตรียมผลิตชิพเพื่อใช้งานด้าน AI ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.13%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.14% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Infineon Tech. +12.9%, UBS +7.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากความหวังแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2-3

ขณะที่ตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 4.46% หลังปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.50% เล็กน้อย ตามการทยอยคลายความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่วนราคาน้ำมันดิบก็ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 78-79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาให้ความสนใจภาพความต้องการใช้พลังงานและแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก

อย่างไรก็ดี ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 4.50% ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะหากปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุด กลับมาอ่อนค่าทดสอบโซน 154.8 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างมองว่า ปัจจัยพื้นฐานที่กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงยังไม่เปลี่ยน และยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าอาจยังคงสูงอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.4 จุด อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.4 จุด)

ส่วนของราคาทองคำนั้น ปัจจัยที่เคยหนุนราคาทองคำ อย่างความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ได้ทยอยคลี่คลายลง ขณะที่เงินดอลลาร์ ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่โซน 2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า Riksbank อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 3.75% ได้ ซึ่งการทยอยปรับลดดอกเบี้ยของ Riksbank ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า บรรดาธนาคารกลางฝั่งยุโรปอื่นๆ ก็สามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้เช่นกัน ทำให้สกุลเงินฝั่งยุโรปมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

ส่วนสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรอลุ้นรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันในระยะสั้นได้และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำ และน้ำมันดิบ ต่างก็ทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่โซนแนวรับในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ (หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว ก็อาจติดแถวโซน 37.10 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน) นอกจากนี้ เราคงมองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล ได้บ้าง

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ในช่วงเวลาราว 14.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่แม้ว่าในอดีต ตลาดอาจไม่ได้ตามผลการประชุม Riksbank มากนัก แต่ในรอบนี้ หาก Riksbank ลดดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป และยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาทต่อดอลลาร์

    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img