วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘พท.’ซัด‘ลุงตู่’ยิ่งอยู่-บ้านเมืองยิ่งทรุด! วอนลาออกเปิดทางเลือก‘นายกฯใหม่’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พท.’ซัด‘ลุงตู่’ยิ่งอยู่-บ้านเมืองยิ่งทรุด! วอนลาออกเปิดทางเลือก‘นายกฯใหม่’

“เพื่อไทย” ซัด “ประยุทธ์” ยิ่งอยู่-บ้านเมืองยิ่งทรุด จี้ให้เสียสละ ลาออกจากเก้าอี้นายกฯเพื่อบ้านเมือง หลังปล่อยให้เกิด “สงครามโรคโควิด” แต่แก้ปัญหาไม่ทันการ เพื่อเปิดทางให้เลือก “นายกฯใหม่” เข้ามาแก้วิกฤต 1 ปี 6 เดือนแล้วค่อยยุบสภา-เลือกตั้งใหม่

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.64 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด ทั้งในไทยและในโลก เปรียบเสมือนเกิดศึกสงคราม ซึ่งไม่ใช่สงครามโลก แต่เป็นสงครามโรค เมื่อถึงขั้นเป็นศึกสงคราม แต่ฝ่ายบริหารไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทันการ หากยังทำหน้าที่ต่อไป บ้านเมืองและพี่น้องประชาชนจะยิ่งเสียหาย เสื่อมทรุด อาจถึงขั้นหายนะ เราคนไทยจะปล่อยให้ถึงสภาพนั้นไม่ได้ ปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีประสิทธิภาพ และนโยบายไม่ทันการ นับเป็นวิกฤตในการทำสงครามกับโรคร้ายที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นศึกสงคราม เราต้องการชัยชนะเท่านั้น เพื่อรักษาประเทศชาติและประชาชนเอาไว้ให้ได้ เมื่อผู้บริหารไม่มีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่ไม่ทันการ ทางออกในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มี 2 ทางคือ ยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรีลาออก

นายชวลิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม่มีเหตุผลในการยุบสภา หากมีการยุบสภาก็ต้องใช้เวลากว่าจะได้รัฐบาลใหม่หลายเดือน ไม่ทันการในการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ นายกรัฐมนตรีควรลาออก สำหรับการสรรหานายกรัฐมนตรีท่ามกลางศึกสงคราม เป็นเรื่องความมั่นคงที่รัฐสภาอาจต้องงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อแก้วิกฤตยามศึกสงคราม หากใช้กติกาปกติจะไม่ทันสถานการณ์ในการแก้ปัญหาสำคัญของชาติ ตนเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจบริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากภาคเอกชน หรือล่าสุดจากองค์กรสำคัญที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ พล.อ.ประยุทธ์จึงเดินต่อไปไม่ได้แล้ว ยิ่งอยู่…บ้านเมืองยิ่งเสื่อมทรุด การลาออกไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ แต่เป็นการเสียสละเพื่อบ้านเมือง

นายชวลิต กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองควรมีหน้าที่หลัก 3 ประการ ก่อนยุบสภา คือ 1.บริหารจัดการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน การบริหารจัดการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนการทำงานเชิงรุกในการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวางเพื่อจำกัดการแพร่ขยายให้อยู่ในวงจำกัด 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม ให้ประเทศได้รับความเชื่อมั่น 3.การทำงานอย่างซื่อสัตย์จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ และเข้าไปปรับหรือชะลองบประมาณด้านความมั่นคงที่ไม่เร่งด่วน มาใช้ด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงยุบสภา คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะใช้เวลาในการบริหารประเทศประมาณ 1 ปี 6 เดือน แล้วจึงยุบสภา

“ผมไม่เคยมีปัญหา หรือมีอคติส่วนตัวอะไรกับพล.อ.ประยุทธ์ ความเห็นที่ให้ครั้งนี้ หวังที่จะเห็นสปิริตจากชายชาติทหารที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากท่านกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการเสียสละ เป็นทางออกให้กับบ้านเมือง การเสียสละเป็นคุณสมบัติของผู้รักชาติ รักแผ่นดิน และเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน”นายชวลิตกล่าว

ด้านนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ถูกมองจะเป็นการใช้งบประมาณสร้างฐานการเมืองในจังหวัดส.ส.ซีกรัฐบาล เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองว่า แม้จะติดสถานการณ์โควิด-19 ประชุมกมธ.ไม่ได้ แต่กมธ.พยายามติดตามการใช้งบโครงการดังกล่าวอยู่ ทราบว่าแต่ละจังหวัดจะสรุปโครงการต่างๆ ของส่วนราชการต่างๆ ในวันที่ 26-29 เม.ย.นี้ เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา จึงเป็นห่วงว่า โครงการเหล่านี้อาจมีลักษณะเป็นโครงการเก่าที่เคยเสนอมาในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ไม่ผ่านการอนุมัติอาจถูกนำเสนอกลับมาใหม่ โดยโยกมาอยู่ในงบฟื้นฟู 4.5 หมื่นล้านบาทครั้งนี้แทน โดยเฉพาะหมวดโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ อาจมีการส่งสัญญาณเอื้อประโยชน์ให้กับจังหวัดส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเพื่อชิงความได้เปรียบ สร้างฐานเสียงทางการเมือง สอดรับกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีแต่ละคนใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาล

นายไชยา กล่าวว่า กมธ.ไม่ขัดข้องในการใช้เม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้ฝ่ายใด งบฟื้นฟู 4.5 หมื่นล้านบาทของกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ มองเป็นอื่นไม่ได้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ขณะนี้รัฐบาลถูกปัญหารุมเร้ามาก แก้ปัญหาโควิดล้มเหลว มีกระแสให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจชิงยุบสภาแก้ปัญหา ภายหลังจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านรัฐสภา และมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.2564 เป็นไปได้อาจยุบสภาเดือนพ.ย.-ธ.ค.2564 ให้จัดเลือกตั้งใหม่ โดยที่รัฐบาลยังมีความได้เปรียบเรื่องงบประมาณ และกติการัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ 250 ส.ว.ยังคงอยู่ ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมยังมีความได้เปรียบในการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ ตัวนายกฯอาจไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะคงกลับมาลำบาก แต่ก็ยังเป็นทีมในกลุ่มอำนาจเดิม ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร โดยส.ว.จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดตัวนายกฯใหม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img