วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กับกรณี“เด็กเชื่อมจิต”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กับกรณี“เด็กเชื่อมจิต”

กลายเป็นกระแสดราม่า สำหรับ “เด็กเชื่อมจิต” ที่เผยแพร่คำสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา จนถูกตั้งคำถามว่า ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ และกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการนำเด็กมาหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบหรือไม่

หากดู พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จะพบกฎหมายที่คุ้มครองเด็กเอาไว้ในหลายกรณีดังนี้

มาตรา 25 (5) บัญญัติไว้ว่า ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้ คือต้องไม่ปฏิบัติ ต่อเด็กโดยการเลี้ยงดูโดยมิชอบ

มาตรา 26 (3) บัญญัติไว้ว่า ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติ เสี่ยงต่อการกระทำผิด

มาตรา 26 (5) บัญญัติไว้ว่า บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมหรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วย ประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

มาตรา 29 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดพบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพตาม จะต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก โดยมิชักช้า

หากเป็นที่ปรากฎชัดหรือน่าสงสัยว่า เด็กถูกทารุณกรรมหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ การแจ้งหรือการรายงานตามมาตรานี้ เมื่อได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครอง

มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่

(1) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ใดๆหรือยานพาหนะใด ๆ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจค้น ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำทารุณกรรมเด็ก มีการกักขังหรือเลี้ยงดูโดยมิชอบ

แต่ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการในทันทีเด็กอาจได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือถูกนำพาไปสถานที่อื่นชื่งยากแก่การติดตามช่วยเหลือก็ให้มีอำนาจเข้าไปในเวลาภายหลังพระอาทิตย์ตกได้

(2) ซักถามเด็กเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเด็กจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือ คุ้มครองสวัสดิภาพ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

อาจนำตัวเด็กไปยังที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว รวมทั้ง บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ทั้งนี้ จะต้องกระทำโดยมิชักช้า แต่ไม่ว่ากรณีใด จะกักตัวเด็กไว้นานเกินกว่า 12 ชั่วโมงไม่ได้

ระหว่างที่เด็กอยู่ในความดูแลจะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและหากเจ็บป่วยจะต้องให้การรักษาพยาบาล

(3) มีหนังสือเรียกผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่นใดมาให้ถ้อยคำหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ความประพฤติ สุขภาพ และความสัมพันธ์ในครอบครัวของเด็ก

(4) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็ก นายจ้างหรือผู้ประกอบการ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ที่เด็กทำงานหรือเคยทำงาน อาศัยหรือเคยอาศัยอยู่ เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสถานศึกษาที่เด็กกำลังศึกษาหรือเคยศึกษา หรือผู้ปกครองสวัสดิภาพ ส่งเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ การศึกษา การทำงาน หรือความประพฤติของเด็กมาให้

(5) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของผู้ปกครอง สถานที่ประกอบการของนายจ้างของเด็ก สถานศึกษาของเด็ก หรือสถานที่ที่เด็กมีความเกี่ยวข้องด้วย ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อสอบถามบุคคลที่อยู่ในที่นั้น ๆ และรวบรวมข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว การเลี้ยงดู อุปนิสัย และความประพฤติของเด็ก

(6) มอบตัวเด็กให้แก่ผู้ปกครองพร้อมกับแนะนำหรือตักเตือนผู้ปกครองให้ดูแลและอุปการะเลี้ยงดูเด็กในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทางที่เหมาะสม

(7) ทำรายงานเกี่ยวกับตัวเด็กเพื่อมอบให้แก่สถานแรกรับ ในกรณีมีการส่งเด็กไปยังสถานแรกรับ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการร้องขอเด็กที่อยู่ในความดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

และก่อนที่จะจัดให้เด็กเข้าอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับสถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู จะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และการแพทย์ก่อน เท่าที่สามารถกระทำได้ในการปฏิบัติหน้าที่ฯ โดยพนักงานที่เกี่ยวข้องต้องเเสดงบัตรประจำตัวเเละให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยสะดวกตามสมควร

เเละมาตรา40 (2) บัญญัติไว้ว่า เด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพได้เเก่ เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด

สำหรับประเด็นการคุ้มครองเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน้าที่โดยตรง เพราะรับผิดชอบเกี่ยวกับสังคมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนฯ เเละเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ

มีการนำเยาวชนที่อยู่ในวัยเด็ก ถูกนำมาโฆษณาว่า เป็นผู้วิเศษ โดยไม่ใช่วิถีทางที่เป็นธรรมชาติทั่วไป ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธ เป็นลักษณะชักจูง นำเสนอโดยเก็บค่าบริการเรียกรับประโยชน์และใช้เด็กให้บริการแก่บุคคลทั่วไป โดยมีค่าตอบแทนกลับมาโดยใช้เด็กเป็นตัวนำเสนอ

สำหรับเด็กอายุ 8-9 ขวบซึ่งอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ควรที่ได้รับการพักผ่อน แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในลักษณะหาผลประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่วิสัยทั่วไปของเด็กเรื่องนี้ถือเป็นการชักจูงให้เด็กออกนอกวิถีปกติ เกินกว่าวิญญูชนทั่วไป ทำให้เด็กถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนอาจจะเป็นผลเสียต่อเด็กในอนาคต

“พม.” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบว่า เกิดการกระทำแบบนี้จริงหรือไม่ และหากพบว่าจริงก็จะต้องนำตัวเด็กไปคุ้มครอง เพื่อไม่ให้ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ตรงนี้เป็นอำนาจที่ทำได้เพื่อคุ้มครองเด็กและสังคม

………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img