ประเด็น การขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ วันนี้!!ดูเหมือนว่ายังไม่สะเด็ดน้ำดีนัก เพราะยังมีเสียงคัดค้านของภาคเอกชนเกือบ 200 องค์กรกันทีเดียว
ถือเป็นเรื่องธรรมดา!! ที่การคัดค้านย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเงินที่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นเงินของภาคเอกชน ไม่ใช่มาจากการควักเนื้อของบรรดานักการเมือง หรือมาจากงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนคนไทยใดๆ
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ภาคเอกชนก็จ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างเกินวันละ 400 บาทอยู่แล้ว ยกเว้นแรงงานที่ยังไม่มีฝีมือ หรือแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ อาจยังได้ไม่ถึงก็ตาม
อย่างที่บอก…การขึ้นค่าแรง ย่อมเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องควักเนื้อจ่ายเอง ก็ย่อมต้องส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ในรายที่พร้อมก็อาจตัดลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นลงแทน
หรือ…อาจลุกลามไปถึงการปรับลดจำนวนแรงงานลง เพื่อคงค่าใช้จ่ายไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือบางรายบางเจ้าที่ไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะบรรดารายเล็กรายย่อยทั้งหลาย อาจมีจำนวนไม่น้อยต้องปิดต้องเลิกกิจการกันไป
ต้นตอสำคัญ หากเป็นแรงงานที่มีฝีมือและจ่ายค่าจ้างเกินกว่า 400 บาท ก็ไม่อาจเป็นปัญหาเท่าใดนัก แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีการจ้างแรงงานจากต่างด้าวหรือกว่า 3.28 ล้านคนทีเดียว และเป็นจำนวนที่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
ส่วนนอกเหนือ ที่ลักลอบ หลบหนีเข้ามา ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ว่ากันว่า…แรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอาจมีเท่า ๆ กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายก็เป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้!! เอกชนรายใดที่ใช้บริการของแรงงานต่างด้าวมากๆ ก็ต้องสะดุ้งกันเป็นแถว เช่นกัน เพราะอย่างน้อยก็ต้องแบกรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอีกวันละ 30-70 บาท ก็ลองคำนวณกันดูว่าต้นทุนจากค่าแรงที่จะเกิดขึ้นนั้นย่อมต้องมีจำนวนมหาศาลเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงก็ย่อมต้องสะท้อนไปถึงราคาสินค้าและอาหาร ที่จะปรับตัวขึ้นไปรอล่วงหน้าก่อนกระทบไปถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ว่าจะยังอยู่ในกรอบที่กำหนดกันไว้หรือเปล่า
ไม่เพียงเท่านี้ ในเมื่อแรงงานขั้นต่ำได้ปรับค่าแรงขึ้น แรงงานที่ได้รับค่าแรงที่มากกว่า ก็หนีไม่พ้น!!ที่ต้องเรียกร้องให้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
เมื่อเป็นอย่างนั้น…ก็ย่อมต้องหนีไม่พ้นความบานปลาย ต้องบังเกิดตามมาแน่นอน เพราะสุดท้าย…คนที่ต้องรับกรรมก็ต้องตกไปอยู่ที่ “แรงงาน” อยู่ดี เพราะโดยธรรมชาติแล้ว “นายจ้าง” คงไม่ต้องการแบกภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น
ที่สำคัญ!! หากต้นทุนเพิ่ม แต่รายได้ไม่เพิ่ม ผลกำไรลดน้อยถอยลงอาจเรื่อยไปจนถึง “ขาดทุน” ต้องปิดกิจการ ความเดือดร้อนย่อมต้องตกไปอยู่ที่ลูกจ้าง
แต่…ในเชิงการเมืองแล้ว ต้องรักษาสัญญา ต้องรักษาคำพูด เพื่อให้คะแนนเสียงยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแม้เวลานี้กระแสข่าวจะดูเหมือนการยื้อๆ ฉุดๆ กันอยู่แต่สุดท้าย เชื่อเถอะ วันที่ 1 ต.ค.67 นี้ การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศย่อมต้องเกิดขึ้นแน่ๆ !!
แม้ว่า เวลานี้จะมีการโยนกลับไปให้คณะกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดไปกำหนดอัตรากันมาให้ชัดก็ตาม แต่ในเมื่อเป็นนโยบาย เป็นอีกหนึ่งเรือธง ในการหาเสียง ย่อมปฎิเสธไม่ได้เช่นกันที่ต้องดำเนินตามที่ได้หาเสียงเอาไว้
ดังนั้นระหว่างนี้อีกประมาณ 4-5 เดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการคลัง รวมทั้งกระทรวงแรงงาน ต้องมาตั้งโต๊ะนั่งถกกันให้ชัดเจนว่า จะเข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชนได้อย่างไร?
ทั้งในเรื่องของการดูแลค่าครองชีพ ไม่ให้ราคาสินค้าแห่ขึ้นจนคนหาเช้า-กินค่ำรับไม่ไหว แบบว่าค่าแรงขึ้นจริงแต่ค่าใช้จ่ายก็ขึ้นตามสุดท้ายเท่ากับว่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร
หรือแม้แต่ในภาคเอกชน ภาคนายจ้าง ก็ต้องหามาตรการมาทัดทาน มาลดความเดือดร้อน อย่าง…ในช่วงที่ปรับค่าแรงขึ้น 300 บาทเมื่อปี 55-56 นั้น ก่อนการดำเนินการก็มีเสียงคัดค้านกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่สุดท้ายในเชิงการเมือง ก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา
ส่วนผลลัพท์ที่ออกมา แม้มีภาคเอกชนรายเล้กรายย่อยปิดตัวกันไปบ้าง หรือแรงงานต้องตกงานกันไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีผลที่ชัดเจนให้เห็นถึงความเสียหายอย่างหนัก
ด้วยเพราะ ในเวลานั้น ภาครัฐได้มีมาตรการเข้าไปช่วยทัดทานไว้ ทั้งการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
หรือ…การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล นำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีได้ 1.5 เท่า สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต แม้กระทั่ง การคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในระดับเดิมในอีก 2 ปีถัดมา
ก็ต้องรอดูกันไปว่า เมื่อถึงวันที่กำหนดในการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นแล้ว บรรดา เอกชนจะดิ้นรนกันอย่างไรต่อไป ขณะที่แรงงานก็จำเป็นต้องเพิ่มทักษะเพื่อให้หลุดพ้นจากการรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้!!
………………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo