กิจกรรมงานวิสาขบูชาโลก ปีนี้กำหนดหัวข้อ “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี” จัดระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ศูนย์การประชุมองค์การสหประชาชาติ และพุทธมณฑล
วันแรกฟัง “พระพรหมบัณฑิต” ประธานสภาสากลวิสาขบูชาโลก ประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ กล่าวถวายรายงาน “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งได้รับพระบัญชาจาก “สมเด็จพระสังฆราช” ให้เป็นผู้ปฎิบัติหน้าแทน เปิดกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลก ณ มหามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลก คณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม และรัฐบาล จัดขึ้นเพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลพระชนมาพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีพระมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ และนักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ประมาณ 2,500 รูป/คนจาก 73 ประเทศ ทั่วโลก
ปีนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีพระสงฆ์ ชาวพุทธและนานาชาติมาร่วมงาน ล้นทะลักห้องประชุมใหญ่ ถามพระคุณเจ้าบอกว่าปีนี้คนเยอะจริงๆ โดยเฉพาะนานาชาติมาร่วมงานเยอะกว่าทุกปี บรรยากาศจึงเป็นไปด้วยความคึกคัก และมีสามเณรจาก “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” มาร่วมกิจกรรม มีนักเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของ “มจร” มาร่วมโบกธงนานาชาติ บรรยากาศแปลกว่าทุกปี
นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมให้คนมาร่วมงานมีส่วนร่วมด้วยคือ การถ่ายรูปด้วยระบบ AI พระสงฆ์และคนมาร่วมประชุมให้ความสนใจเข้าแถวรอแน่นหนา ถามเจ้าหน้าที่ที่บริการบอกว่า ผู้ใช้บริการเยอะมาก จนอดกินข้าวกลางวัน
เข้าไปกราบสักการะ “พระพรหมบัณฑิต” ถามความรู้สึกบรรยากาศงาน การจัดสถานที่ และการมีส่วนร่วมของนานาชาติ ดูแล้วท่านปลื้มปีติดีใจ เนื่องจาก คนมาร่วมเยอะ นานาชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะท่านถาม
“เปรียญสิบ” เรื่องคณะสงฆ์มอญว่ามาหรือไม่ อธิบายให้ท่านฟังว่า ความจริง “มจร” จัดโควต้าให้ทุกปีประมาณ 30-35 รูป/คน แต่ปีนี้มาร่วม 22 รูป/คน ซ้ำมาไม่ได้อีก 2 รูป สาเหตุแหตุเพราะ “ความขัดแย้ง” ภายในประเทศ สะพานข้ามแม่น้ำระหว่างรัฐมอญ กับ ย่างกุ้ง ถูกทำลาย รถสัญจรลำบาก ซ้ำระหว่างถนนบางจังหวะ มีการสู้รบกันเป็นประจำ พระสงฆ์มอญจากรัฐมอญจำนวน 2 รูป จึงมาไม่ได้
ส่วนกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลกปีนี้ “มจร” รับผิดชอบ 2 แห่งคือ ที่ มจร และที่ UN เห็นการทำงานของชาว “มจร” แล้วปลื้มใจ แม้จะเป็นพระสงฆ์ แต่ความเป็น “มืออาชีพ” ค่อนข้างสูง ทุกฝ่ายร่วมมือกันดี ภายใต้การอำนวยการของ..พระพรหมบัณฑิต
ถาม “เจ้าคุณหรรษา” พระเมธีวัชรบัณฑิต ผอ.IBSC ซึ่งเป็น “คีย์แมน” จัดงานที่ UN และต้องประสานกับแขกต่างประเทศทุกประเทศ รวมทั้งกับ “มจร” เล่าว่าประชุมกับคณะกรรมการสภาสากลวิสาขบูชาโลก ดึกดื่นทุกวัน แวะไปคุยกับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต แจ้งว่านอนตี 2-3 หลายคืนแล้ว เพราะต้องต้อนรับประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เสร็จแล้ว ต้องไปส่งตามโรงแรมต่างๆ
สอดคล้องกับ “พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน” รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ บอกว่า ปีนี้นานาชาติให้ความสนใจกิจกรรมวันวิสาขบูชานานาชาติมาก รวมทั้ง “มจร” ก็เช่นกัน หลายประเทศเดินทางมาดูการศึกษา มาเชื่อมความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ “พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร” ดูแล้วเหนื่อยๆ เพราะหลายวันมานี้ฝ่ายวิชาการจัดประชุมหลายเวที ในขณะที่แขกฝ่ายประเทศต้องยกนิ้วให้กับ “ฝ่ายกิจการนิสิต” ราบรื่นดีมาก ฝ่ายที่สบายที่สุดน่าจะเป็น “ฝ่ายจราจร” ส่วนเรื่องอาหารมีโรงทานมากกว่า 20 โรง สำหรับแขกนานาชาติทั้งคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน จัดโดยอาหารโรงแรม
แต่สำหรับ “คีย์แมน” การจัดงานวิสาขบูชาโลกครั้งนี้ต้องรู้ “ทุกเรื่อง” และบริหารจัดการต้องแก้ไขปัญหา “ทุกอย่าง” ทั้งเรื่องการจัดสถานที่ เรื่องคนร่วมงาน หรือแม้กระทั้งเรื่องอาหารการฉัน ใครคิดอะไรไม่ออกต้องบอก “เจ้าคุณประสาร” ใครอยากรู้อะไรต้องถาม “เจ้าคุณประสาร” หรือ พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เพราะคุมทั้งกำลังคน ทั้งงบประมาณ คิวการประชุม ติดต่อประสานงานทุกฝ่ายในฐานะ “เลขานุการ” การประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งนี้
สรุปภาพรวมการจัดงานวิสาขบูชานานาชาติหรือวิสาขบูชาโลกในครั้งนี้ “ภาพรวม” ค่อนข้างดี ไม่เสียหน้ามหาเถรสมาคม ไม่เสียหน้าคณะสงฆ์ไทย และที่สำคัญ “สมพระเกียรติ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เห็นความตั้งใจของคณะสงฆ์ชาว “มจร” และหน่วยงานหลายภาคส่วน ที่ร่วมกันจัดงานเพื่อแสดงความ “จงรักภักดี” ต่อสายตาประมุขสงฆ์ ต่อสายตาผู้นำชาวพุทธนานาชาติแล้ว
พวกท่านเหล่านั้นจาก 73 ประเทศ คงคิดในใจว่าสมแล้วที่ยกให้ประเทศไทยเป็น..ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
…………………………………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]