วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSอนุมัติวีซ่า-ใบอนุญาตทำงานต่างชาติ 5.6 หมื่นคน ผลสำเร็จจากมาตรการกระตุ้นศก.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อนุมัติวีซ่า-ใบอนุญาตทำงานต่างชาติ 5.6 หมื่นคน ผลสำเร็จจากมาตรการกระตุ้นศก.

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการทำงานของชาวต่างชาติทักษะสูงอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ผ่านศูนย์ One Stop Service แล้วกว่า 5.6 หมื่นคน สะท้อนผลสำเร็จจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทย

วันที่ 4 มิ.ย.67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราในประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) และวีซ่าดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Smart Visa) ผ่านศูนย์ One Stop Service รวมทั้งสิ้นกว่า 56,000 คน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) ณ ชั้น 18 ตึกจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (https://osos.boi.go.th/TH/home/)  โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน และการบริการผ่านระบบออนไลน์ SINGLE WINDOW Visa and Work Permit System (https://swe-expert.boi.go.th/SW-WEB/main.php) ซึ่งข้อมูลของ BOI ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมแล้วกว่า 56,000 คน ประกอบด้วย

– ประเภทวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน 

– ประเภท LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากสหรัฐอเมริกา 791 คน รองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน

– ประเภท Smart Visa และกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

โดยสำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เป็นมาตรการของรัฐบาล ที่มุ่งดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 2) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และ 4) ผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง 

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเห็นชอบในหลักการ เพิ่มการตรวจตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa (DTV) โดยเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล เช่น remote worker หรือ digital nomad ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งด้วยรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันจะเป็นอีกทางเลือกในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของไทย เชื่อมั่นว่า ผลจากการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในระยะยาว ซึ่งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย” นายชัย กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img