วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทพลิกอ่อนค่า"จับตายอดการจ้างงานสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทพลิกอ่อนค่า”จับตายอดการจ้างงานสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า” ตลาดลุ้นยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,320-2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.59 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.53-36.67 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.059 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาด ทว่า เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก ท่ามกลางโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินบาทในจังหวะแข็งค่า ทำให้โดยรวมเงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดแนวรับหลัก 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ก่อน แม้ว่า ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ล่าสุด จะออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอลงของตลาดแรงงานและช่วยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่าง Exxon Mobil -1.6% ก็ปรับตัวลงแรง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.15%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงราว -0.54% ตามแรงขายทำกำไรในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย BP -3.8%, TotalEnergies -2.4% ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางความกังวลว่า อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจเพิ่มสูงขึ้น จากการทยอยยุติการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ

ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ที่พลิกกลับมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.34% อย่างไรก็ดี เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (รอลุ้น ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และยอดการจ้างงาน ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้) ออกมาดีกว่าคาด แต่ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังมีจังหวะแข็งค่าทดสอบระดับ 154.6 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงสู่ระดับ 155.40 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจว่า เงินเยนจะแข็งค่าต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้จริง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.3 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,320-2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ ล่าสุด

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน ที่สำรวจโดย ADP ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ รวมถึง รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด เหมือนกับ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตก่อนหน้า ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนพฤษภาคม เช่นกัน ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ อาทิ โฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะ น้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงนี้ เช่นเดียวกันกับโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ที่ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะทยอยเข้าซื้อในช่วงราคาทองคำย่อตัวลง นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน ขณะเดียวกัน หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจยังติดอยู่ในโซนแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่อาจทำให้ค่าเงินบาทผันผวนแข็งค่าขึ้น หรือ อ่อนค่าลงได้ราว 0.2% โดยเฉลี่ยจากข้อมูลสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.80 บาท/ดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img