‘พาณิชย์’ ประกาศเงินเฟ้อเดือน พ.ค.บวก 1.54 % สูงสุดในรอบ 13 เดือน เหตุราคาน้ำมัน-ค่าไฟ-อาหารสด-ไข่ไก่พุ่ง ทั้งปีคงเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 0.5%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือเงินเฟ้อเดือนพ.ค.67 อยู่ที่ 108.84 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.66 อยู่ที่ 107.19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.54% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน( ม.ค.-พ.ค.) ของปี 67 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ติดลบ 0.13% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนพ.ค.เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.39% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเม.ย.67 ที่สูงขึ้น 0.37% รวม 5 เดือนแรก เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.42%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนเม.ย.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.19% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 129 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข เช่น สปป.ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย.67 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยน่าจะในระหว่าง 1-1.11 % โดยมีสาเหตุสำคัญจาก ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.67) ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งปรับมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาน้ำมันมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อ 9% และความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% ค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง