ราคาทองคำถูกลดทอนมุมมองเชิงบวก หลังธนาคารกลางจีนหยุดซื้อทองคำสำรองในเดือนพ.ค. จากที่ก่อนหน้านี้เข้าซื้อต่อเนื่อง 18 เดือน
นายวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จํากัด เปิดเผยถึงแนวโน้มทิศทางทองคำในสัปดาห์หน้าว่า แกว่งไซด์เวย์ หลังจากราคาทองคำตั้งแต่ 1 มิ.ย.-7 มิ.ย. ปรับตัวขึ้น ประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทองแท่ง 96.5% ปรับตัวลง 350 บาท (ค่าเงินบาทแข็งค่า 0.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยราคาทองคำได้แรงหนุน การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นการดำเนินการสอดคล้องกับธนาคารกลางหลายแห่งก่อนหน้านี้ ได้แก่ ธนาคารกลางแคนาดา สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้แนวโนวโน้มที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำถูกลดทอนมุมมองเชิงบวก หลังมีรายงานว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ทำการหยุดซื้อทองคำสำรองในเดือนพ.ค. หลังเข้าซื้อต่อเนื่อง 18 เดือนก่อนหน้านั้น
ปัจจัยบวกลบที่ต้องติดตาม
- ปริมาณการซื้อ-ขายทองคำ จากจีน ในช่วงต้นสัปดาห์ อาจเบาบางลง เนื่องจากวันที่ 10 มิ.ย. เป็นวันหยุด เนื่องในเทศกาล The Dragon Boat Festival หรือ วันไหว้บ๊ะจ่าง
- สหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันพุธที่ 12 มิ.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันพฤหัสที่ 13 มิ.ย. โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และดัชนี PPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต
- การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)คาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายสนับสนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ขณะที่เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่ามีโอกาส 55% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย.
- การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่า นักเศรษฐศาสตร์กว่าครึ่งหนึ่งคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมครั้งนี้ และ มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค.