ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” หลังดอลลาร์อ่อน นักลงทุนเทขายทองคำทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.72-36.83 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด หลังเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
แม้ว่าบรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ทว่าการรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นเทคฯใหญ่ อาทิ Meta +2.0%, Microsoft +1.0% ก็มีส่วนช่วยหนุนให้โดยรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.26%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลงกว่า -0.27% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นในตลาดหุ้นฝรั่งเศส ท่ามกลางความวุ่นวายการเมืองฝรั่งเศส หลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายขวาจัด (ที่มีแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านสหภาพยุโรป หรือ EU) อย่างพรรค RN ของนางมารีน เลอ แปน เข้ามามีอำนาจในสภาและในการบริหารประเทศมากขึ้นได้
ส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพียง 45% ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯแกว่งตัวแถวระดับ 4.46% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดมากขึ้น เพราะหากรายงานอัตราเงินเฟ้อ และผลการประชุมเฟดล่าสุด (โดยเฉพาะ Dot Plot ใหม่) ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เราย้ำมุมมองเดิมว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯจะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ (หากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 4.50% ก็สามารถพิจารณาเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจได้เช่นกัน)
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลงเล็กน้อย ท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.1-105.4 จุด)
ส่วนราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,327 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออังกฤษ และการตัดสินใจต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสกุลเงินต่างๆ มากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง แม้ว่าระดับ Valuation ของสินทรัพย์ไทยจะอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้นก็ตาม โดยเรามองว่านักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกังวลต่อปัญหาการเมืองในประเทศอยู่ และหากปัจจัยดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง เราคงมองว่านักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะเผชิญแรงขายอยู่บ้าง จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตาเช่นกัน เพราะหากข้อมูลการจ้างงานอังกฤษออกมาแย่กว่าคาด เช่น อัตราการเติบโตของค่าจ้างและการจ้างงานชะลอลงมากกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวสามารถกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาทต่อดอลลาร์