วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSลุ้น“ก้าวไกล”ฝ่าวิกฤติคดียุบพรรค!!! “พรรคใหญ่-รอง”แย่งดึงสส.ร่วมก๊วน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลุ้น“ก้าวไกล”ฝ่าวิกฤติคดียุบพรรค!!! “พรรคใหญ่-รอง”แย่งดึงสส.ร่วมก๊วน

แม้ ศาลรัฐธรรมนุญ (รธน.) จะส่งสัญญาณเตือน “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ไม่ควรแถลงข่าว หรือพูดจาแสดงความคิดเห็น ก่อนมีคำวินิจฉัยคำร้องยุบพรรคสัญลักษณ์สีส้ม เพราะอาจเป็นการชี้นำประชาชน หรือกดดันการพิจารณาของตุลาการ อันจะส่งผลกระทบต่อรูปคดี โดยศาลจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

แต่ดูเหมือนแกนนำพรรคก้าวไกล ที่กำลังเผชิญชะตากรรมขั้นเลวร้าย ก็ไม่สนใจ ยังเดินหน้าทวงความเป็นธรรม ให้กับพลพรรคของตัวเองอยู่ดี

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องมีหลักฐานเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติกรรมกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ก้าวไกล และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็น กก.บห.มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

โดยปมร้อนดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่ พรรคก้าวไกล มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเนื้อหาระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ยังมีคนไปยื่นร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบจริยธรรม 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าว โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว เคยแสดงอิทธิฤทธิ์มาแล้ว มีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต “พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมในช่องทางการสื่อสารของตตนเอง

ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงกรณีการต่อสู้คดีล้มล้างการปกครอง ซึ่งอาจมีโทษถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล โดยมี 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่หนึ่ง เขตอำนาจและกระบวนการ (Jurisdiction & Process) 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีขอบเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ส่วนที่สอง ข้อเท็จจริง (Facts) 3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นมติพรรค  

ส่วนที่สาม สัดส่วนโทษ (Penalty) 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกก.บห. 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด และ 9.การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา  

สำหรับประเด็นที่ระบุถึงศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีขอบเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ “พิธา” ขยายความว่า เป็นสิ่งที่พวกเราต่อสู้ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เพราะรัฐธณรมนูญ มาตรา 210 ระบุชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ ดัง 3 ข้อ ต่อไปนี้คือ

1.พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือองค์กรอิสระ 3.หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกตนได้ศึกษารัฐธณรมนูญ ไม่มีอำนาจข้อไหนที่ระบุว่า ศาลรัฐธณรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิการเมือง

ซึ่งอีกย่อหน้าระบุว่า อะไรที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้รัฐธณรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจ ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจมากกว่า 3 ข้อนี้

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้พิจารณา ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ศาลมีอำนาจในการพิจารณา หลังจากเคยวินิจฉัยว่า กรณีพรรคมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองไปแล้ว

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรธน. ให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนเรื่องกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเพราะไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกร้อง นั่นคือพรรคก้าวไกลได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด คดียุบพรรคก้าวไกลต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในเรื่องของระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กกต. สิ่งที่เราถูกร้อง กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ซึ่งระบุว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น แต่ประเด็นทางกฎหมาย มาตรา 92 ต้องประกอบกับมาตรา 93 ซึ่งมาตรา 92 คือข้อหา มาตรา 93 คือวิธีพิจารณา เพราะมาตรา 93 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนของพรรคการเมืองใด กระทำตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา”

ขณะที่ “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล แถลงถึงข้อต่อสู้คำร้องยุบพรรค โดยมีข้อสังเกตว่า กกต. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดระเบียบของกกต.เอง เพราะไม่ได้มีการชี้แจงให้ผู้ถูกร้องทราบก่อน ว่า การดำเนินการของกกต. ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสืบสวนไต่สวน แต่เป็นการดำเนินการตามระเบียบ ว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพรรคก้าวไกลมีการระบุว่า กกต.ใช้หลักฐาน เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียว ในการยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล จะเพียงพอต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ “อิทธิพร” กล่าวว่า ที่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องบอกว่า เมื่อกกต. “มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า” ซึ่งหลักฐานอันควรเชื่อว่าตรงนี้ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งไป ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งให้สาธารณชนทราบไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม “พิธา” ยังยกตัวอย่างในกรณีของประเทศเยอรมนี พรรคเอ็นพีดี ในปี 2560 มีการแสดงออกด้วยอุดมการณ์นาซี ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ล้มล้างแต่ไม่ยุบ เพราะไม่มีหลักฐานอาจเป็นรูปธรรม ที่พิสูจน์ได้ว่า แนวคิดของเอ็นพีดี มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ แต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการสั่งชะลอจาก กกต. ระบบนิติบัญญัติ และการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีคำวินิจฉัยในเดือนม.ค. พรรคก้าวไกลได้หยุดการกระทำ ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากมีการใช้ เท่ากับว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อนักข่าวถามว่า หากเกิดการยุบพรรค สส.ของพรรคก้าวไกล จะไม่ย้ายไปพรรคอื่นใช่หรือไม่ “พิธา” กล่าวว่า แน่นอน ยังรู้สึกว่า การทำงานของพรรค ทั้งกระแส และเวลาที่อยู่ร่วมกัน มีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นปึกแผ่น รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างประสบการณ์ร่วมกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็น สส.ได้เลย ไม่ประมาท แต่ไม่กังวล เพราะมีบทเรียนมาทั้งภายนอกและภายใน

“ผมก็ไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดที่ไม่รู้ว่า อาจจะมีพรรคบางพรรคที่อยากได้โควตา สส.เพิ่ม ไปต่อรองรัฐมนตรี เรื่องพวกนี้ผมรู้ทันอยู่ แต่ยังมั่นใจในตัว สส.ของตัวเอง และไม่ได้หูเบาขนาดที่จะเห็นแล้วรู้สึกว่า เกิดความลำเอียงหรืออคติต่อ สส.คนนั้น ต้องให้โอกาสลูกพรรคตัวเองในการสันนิษฐานให้บริสุทธิ์ไว้ก่อน เชื่อในระบบและอุดมการณ์ของพวกเขา” พิธา กล่าว

นั่นหมายความว่า ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล คงรับรู้ความเคลื่อนไหวของบางพรรคการเมืองดี เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า มี 2 พรรคร่วมรัฐบาล พยายามติดต่อทาบทามสส.พรรคก้าวไกล หากต้องถูกยุบพรรค

โดยพรรคหนึ่งเป็นพรรคขนาดกลาง นอกจากหวังจะได้สส.ไปร่วมงาน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง หากมีการปรับครม. หัวหน้าพรรคยังลุ้นกับการเข้าชิงเก้าอี้นายกฯอีกด้วย หาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ต้องมีอันเป็นไป โดยมีข่าว มีสส.จำนวนหนึ่งเดินทางไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองนี้มาแล้ว

คงต้อรอดูว่า ในที่สุดหากพรรคก้าวไกลมีอันเป็นไป จะมีสส.ไหลเข้าพรรคการเมืองนี้บ้างหรือไม่ อย่าลืม “การเมืองไทย” เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา เพราะอดีตสส.พรรคอนาคตใหม่ เคยเผชิญวิบากกรรม ที่กระทำตัวเป็นเป็น “งูเห่า” มาแล้ว เพราะสอบตกหมด แต่บางคนอาจทนต่อสิ่งเย้ายวนใจไม่ไหว 

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีบทบาทาทสำคัญในฝ่ายบริหาร แม้ต่อหน้าสาธารณชน บรรดาสมาชิกพรรคจะแสดงอาการเห็นอกเห็นใจ “พรรคก้าวไกล” ไม่ต้องการให้ถูกยุบพรรค แต่เบื้องหลังก็มอบหมายให้นักการเมืองอาวุโส ที่เพิ่งถูกทาบทามให้เข้ามาร่วมงานกับพรรค รับภารกิจสำคัญในการไปทาบทามสส.ของพรรคก้าวไกล ให้มาร่วมงานกับพรรคอย่างน้อย 50 คน เพื่อเพิ่มเสียงให้กับพรรค เพื่อนร่วมงานจะได้ไม่กล้าต่อรอง และยังหวังผลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งต้องแย่งความเป็นพรรคอันดับหนึ่งกับก้าวไกล หรือพรรคการเมืองใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้นมา เพื่อทดแทนพรรคก้าวไกล (กรณีถูกยุบพรรค)

นั่นหมายความว่า จำนวนสส.ของพรรคสีส้ม ถือเป็น “ของหวาน” สำหรับพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ต้องการดึงไปร่วมงานด้วย เพื่อลดจำนวนสส. ไม่ให้ย้ายตามไปพรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้น และหวังสร้างเข็มแข็งให้กับพรรคตัวเอง 

ถือเป็นงานหนักของแกนนำพรรคก้าวไกล ซึ่งนอกจากต้องต่อสู้ในคดียุบพรรค เพื่อให้หวังพรรครอดจากวิบากกรรม ก็ต้องดึงสส.ให้อยู่ในพรรคไว้ให้ได้ แม้พรรคจะเดินต่อไปไม่ได้ ต้องย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ ซึ่งคงอยากรักษาสส.ไว้ให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่า จะมีสส. ต้องถูกลงดาบ หมดสิทธิ์ไปต่อทางการเมืองกี่คน

แม้ตามโพลบางสำนัก “พรรคก้าวไกล” ยังยืนหนึ่งทั้งความนิยมของพรรค และตัวบุคคลในส่วนของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แต่การเมืองไทยมีปัจจัยหลายอย่าง แม้จะมีนโยบายที่โดนใจโหวตเตอร์คนรุ่นใหม่ ต้องการให้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ถ้าหากไม่คำนึงถึงจารีตและกฎกติกาที่วางไว้ อาจต้องเผชิญ “วิบากกรรม” แบบไม่จบไม่สิ้น!!!

ล่าสุด…พรรคก้าวไกลยังต้องตามลุ้นต่ออีกยก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในวันที่ 12 มิ.ย. ให้ “กกต.” ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมในคดีนี้ กลับมาภายในวันที่ 17 มิ.ย. ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.ที่จะถึงน้

…………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img