ธปท.เตรียมระงับ ‘บัญชีม้า’ ในชื่อบุคคล จากเดิมระงับแค่รายบัญชี หากพบเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพ อายัดทันทีทุกบัญชีและเปิดบัญชีใหม่ไม่ได้ เตรียมยกระดับเข้ม รายชื่อผู้ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องมิจฉาชีพ จะถูกติดตามเป็นกลุ่มเสี่ยง วางระบบแชร์ข้อมูล ‘ข้ามธนาคาร’
วันที่ 13 มิ.ย.67 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ปีที่แล้วได้มีการออกพระราชกำหนด (พรก.) มาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการกับบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเพื่อสนับสนุน การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง พรก. ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยง และแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด
โดยหลังจากนี้จะระงับบัญชีม้าใน ‘รายชื่อบุคคล’ จากเดิมที่ระงับ ‘รายบัญชี’ ซึ่งหมายถึง หากพบว่า รายชื่อใดที่ระบุและพบว่ามีบัญชีอยู่ในเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพ จะถูกอายัดในทุกบัญชี และจะเปิดบัญชีใหม่ไม่ได้เช่นกัน
การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 การยกระดับการจัดการบัญชีม้า ปรับจากการดำเนินการระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้น ทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ โดยการกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย ซึ่งธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) , ฐานข้อมูล CFR (ม้าเทา) ซึ่งเป็นรายชื่อที่ผู้ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งบัญชีกลุ่มนี้จะถูกติดตามทันทีว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งธนาคารสามารถเห็นข้อมูลกลุ่มม้าเทานี้ ‘ข้ามธนาคาร’ ได้ โดยธนาคารมีการออกหนังสือเวียนฯ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่า มีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้ง ก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่นการระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร Communications Department การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล หรือแหล่งข้างต้น หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไข ไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา
ในการนี้ ธปท.ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูง หรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน
กลุ่มที่ 2 การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้นธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อควงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือ การปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท
นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้า เพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) ,การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567
ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าความเสียหายจากการทุจริตทางการเงินทุกประเภท จากการแจ้งความ online ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 65 – 31 พ.ค. 67 มีกว่า 63,000 ล้านบาท มากสุด 36% คือการหลอกลงทุน รองลงมา 28% คือการหลอกโอนเงิน