วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ทักษิณ”ติดชนักคดี“ม.112” ลุ้นดันนิรโทษฯทำรัฐบาลร้าว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ทักษิณ”ติดชนักคดี“ม.112” ลุ้นดันนิรโทษฯทำรัฐบาลร้าว

บางคนคาดการณ์กันว่า วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเป็น วันโลกาวินาศ บางคนคิดไปถึงขั้นการเมืองจะร้อน เนื่องจากมี 4 คดีที่เกี่ยวของกับสถานะของ “ผู้นำประเทศ” มีผลกระทบกับ “ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล” เกี่ยวข้องกับ “พรรคการเมืองที่มีสส.มากที่สุดในสภาฯ” แต่มีสถานะเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เข้าสู่กระบวนการพิจารณา

แต่ในที่สุด ผลพวงกระบวนการยุติธรรม และการทำงานของ “องค์กรอิสระ” ก็ยังไม่ชี้ชัด ทำให้การเมืองยังอยู่ในภาวะที่ยากเดา เพียงแต่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ ยังพอหายใจหายคอกับการต่อสู้คดี ส่วนกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ต่อไป

ไล่เลียงบทสรุปแต่ละคดี เริ่มตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติคดีที่ศาลปกครองกลาง ส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3 ) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3 ) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดยผลการพิจารณา  ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า 4 มาตราดังกล่าว ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107

นั่นหมายความว่า การเดินหน้าเลือก สว.ในระดับประเทศ จะเดินหน้าต่อไป  และทำให้หลายคนคาดหมายว่า ในเดือนก.ค จะได้สมาชิกสภาสูงครบ 200 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน สว. ซึ่งยังปฎิบัติหน้าที่อยู่ และทำให้ข้อครหาคนบางกลุ่ม ที่มักออกมาระบุว่า มีความพยายามที่จะล้มกระบวนการเลือกสว.ต้องยุติลง เหลือเพียงขั้นตอนปฏิบัติ ซึ่งทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไปดำเนินการให้รอบคอบและรัดกุม ซึ่งถือเป็นคดีเดียวจาก 4 คดีที่มีความชัดเจน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องกรณี “สว. 40 คน” ในฐานะผู้ร้อง และ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 กรณีมีได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ (ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2) ทั้งที่รู้ หรือควรรู้ว่าอยู่แล้วว่า ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก “พิชิต” เคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

เศรษฐา ทวีสิน

ผู้ร้องจึงส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรรมนูญไม่รับคำร้อง เฉพาะส่วนของ “พิชิต” แต่ในส่วนของ “เศรษฐา” มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่ง “เศรษฐา” ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทำความเห็น และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานประเด็นที่ศาลกำหนดยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 10 ก.ค.67 นั่นหมายความว่า ยังไม่นัดชี้ขาดหรือลงมติภายในเดือนนี้ ซึ่งหมายความว่าสถานะของ “หัวหน้ารัฐบาล” ยังมีความไม่แน่นอน

โดย ทีมกฎหมายที่ทำคำชี้แจงของ “เศรษฐา” ส่งรายชื่อ “ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นพยานเพียงคนเดียว ในฐานะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า ทำตามขั้นตอน และในคำชี้แจงมีรายละเอียด เกี่ยวกับมาตรา 160 (4) (5) รัฐธรรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตไว้ด้วย

ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” กูรูด้านกฎหมาย ซึ่งถูก “เศรษฐา” ดึงมาช่วยดูคำชี้แจงในคดี 40 สว. ในฐานะ “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ตอบคำถามว่า จากการที่ได้ตรวจคำชี้แจงของนายกฯ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ฯจะรอดพ้นข้อกล่าวหาคดีดังกล่าวว่า “อย่าให้ผมออกความเห็น หรือถ้าคุณจะบอกให้ผมพูดว่า ดูแล้วไม่รอดแหงๆ มันก็จะประหลาด หรือถ้าจะให้บอกว่ารอดแน่ๆ ก็พูดไม่ได้ เพราะเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ก็ควรทำให้ศาลฯสบายอกสบายใจ พวกคุณยิ่งพูดอยู่เรื่อยว่า ผมชี้นำศาล”

ส่วนกลุ่ม 40 สว. มีการยื่นเอกสารบัญชีพยานบุคคล ประกอบด้วย “สมชาย แสวงการ-ดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม-ประพันธ์ คูณมี” หากศาลรัฐธรรมนูญจะมีการเปิดห้องพิจารณาคดี เพื่อไต่สวนคำร้องดังกล่าว ซึ่งบุคคลทั้งสาม ถือเป็นตัวตึง และมีบทบาทตรวจสอบฝ่ายบริหารมาโดยตลอด

ดังนั้นการต่อสู้และหักล้างทางกฎหมาย คงมีความเข้มข้นน่าดู แต่นักติดตามทางการเมืองลบางคน เชื่อว่าในเดือนก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญอาจยังไม่นัดวินิจฉัย เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่มีงานสำคัญของประเทศ “เศรษฐา” ยังมีลุ้นอยู่

ขณะที่ สำนวนยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายในคำร้องที่ “กกต.” โดย “นายทะเบียนพรรคการเมือง” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกก.บห.และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห.หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งตามพ.ร.ป.​ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรธน.ที่ 3/2567

โดยในวันที่ 12 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย67 และ กกต.ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 14 มิ.ย 67 และได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 17 มิ.ย.67

ซึ่งศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา จึงกำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 ก.ค 67 และให้คู่กรณีเข้าตรวจพยานหลักฐานในวันที่อังคารที่ 9 ก.ค.67

นั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่นัดวินิจฉัยและชี้ขาด แม้จะ “กกต.” จะใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรรมนูญ ที่ 3/2567 เป็นหลักฐานสำคัญ โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีเข้าตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ “พรรคก้าวไกล” ได้หายใจหายคอ และมีลุ้น แม้หลายคนจะเชื่อว่า หนทางที่พรรคสีส้มจะรอดจากการถูกยุบพรรค อาจเป็นศูนย์

ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรรมนูญมีกำหนดนัดพิจารณา คดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลครั้งต่อไปในวันที่ 3 ก.ค. และมีกำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค.ที่จะถึงนี้ว่า ไม่แน่ใจว่า เมื่อมีการตรวจสอบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายแล้ว จะหมายความว่า ให้มีการสืบพยานหรือไม่ เพราะเข้าใจว่า ทางผู้ร้องก็มีจำนวนพยานพอสมควร ทางฝั่งก้าวไกลก็มีพยานที่มีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับกฎหมายเยอะพอสมควร

“ถ้ามีโอกาสได้ไต่สวนหรือสืบพยาน ก็เราก็คงจะมีโอกาสได้อธิบายเหตุและผล และความไม่เชื่อมโยงกันกับคดี 3/2567 ผมคาดว่าคงจะไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเป็นคนละมาตรา คนละกฎหมายกัน มั่นใจทั้ง 9 ข้อต่อสู้ของพรรค จะสามารถซักค้านได้ในทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา” พิธา กล่าว

แสวง บุญมี

ขณะที่ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณียุบพรรคก้าวไกลว่า ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนจะมีพยานบุคคลหรือไม่ คิดว่า คำวินิจฉัย (ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพรรคก้าวไกล) เพียงพอแล้ว กกต.จึงได้ส่งเอกสารเพิ่มบางอย่างที่เป็นข้อกฎหมาย 

เมื่อถามถึงการที่คู่กรณีออกมาแสดงความเห็นว่า กกต. ไม่มีอำนาจ หรือลุแก่อำนาจ จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อ กกต.หรือไม่ “แสวง” กล่าวว่า เรารู้ว่าต้องทำอะไร ทำผิด ทำเกิน ทำน้อย คงไม่ได้ ทุกเรื่องมีการกระทำมีข้อเท็จจริง คนที่ได้รับผลดีผลร้าย สิ่งนี้เกิดจากกฎหมายกำหนดไว้ก่อนว่า ลักษณะเช่นไรที่เป็นความผิด เมื่อมีข้อเท็จจริง กกต. ก็ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ท่านไม่ได้รับผลร้าย หรือผลดีจากการตัดสินของ กกต. ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ 

ส่วนที่ศาลอาญา พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาได้นำตัว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นนักโทษชายเด็ดขาดที่อยู่ระหว่างพักโทษ ผู้ต้องหาที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์ The Chosun Media สื่อของเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา

โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยได้พูดให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ สำนักข่าว Chosun Media ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ในชื่อคลิป “ทักษิณให้สัมภาษณ์ทิ้งบอมบ์ เบื้องหลังยึดอำนาจ อัดสุเทพ บิ๊กทหาร องคมนตรี” เผยแพร่ที่เว็บไซต์ YouTube โดยใช้ชื่อ https://www.youtube.com/watch?v=tar/yCmbvABgo โดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า news_viv ความยาว 1.32 นาที และเผยแพร่ที่เว็บไซต์ facebook ชื่อบัญชี “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ปรากฏตาม https://www.focebook.com/stopfakethailand 2fref=ts อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่เมืองกรุงโซล สาธารณรัฐกาหลี และที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และทั่วราชอาณาจักร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน

ศาลพิจารณาเเล้วประทับรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1860/2567 โดยศาลอ่านเเละอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังเเล้ว จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ภายหลังจำเลยยื่นหลักทรัพย์ 5 เเสนบาท พร้อมคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด อายุมาก ได้รับการปล่อยชั่วคราว ในชั้นสอบสวน มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว

ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือขัดขวางการพิจารณาของศาล อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ระหว่างพิจารณา โดยให้ตีราคาประกัน 500,000 บาท กับให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทางและหลักประกัน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทราบ

จากผลพวงคดีดังกล่าว ทำให้หลายคนเชื่อว่า การมีคดีมาตรา 112 ติดตัว จะทำให้ “ทักษิณ” ลดการเคลื่อนไหวทางการเมืองลง และไม่ให้สัมภาษณ์ในประเด็นอ่อนไหว เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตี 

แต่ที่สำคัญด้วยความไม่แน่นอนของการต่อสู้คดี เชื่อว่า ในที่สุดพรรคเพื่อไทย (พท.) จะผลักดันให้มีการบรรจุปมล้างผิดในคดีล่วงละเมิดสถาบันไว้ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะสวนทางกับจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ที่คัดค้านการล้างผิดในคดีมาตรา 112 มาโดยตลอด

ดังนั้นประเด็นคดีความที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกฯ จะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่อาจส่งผลกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาล และอาจทำให้ “ทักษิณ” ต้องล้มดีล เพื่อปลดพันธนาการที่ติดอยู่กับตัวเอง แม้ต้องหันไปจับมือกับ “พรรคก้าวไกล” ที่ต้องการผลักดันให้ยกเลิกโทษความผิด ในคดีล่วงละเมิดสถาบันมาโดยตลอด

…………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”                                                                             

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img