วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘บาทอ่อนค่า’ จับตาเงินเฟ้อPCEสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘บาทอ่อนค่า’ จับตาเงินเฟ้อPCEสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็งและบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ดีดปรับตังขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าคาดด้กดดันราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จับเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 36.62-36.78 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global ที่ออกมาดีกว่า ขณะเดียวกันการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด และการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมกับเตรียมรับมือความผันผวน หากทางการญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ สหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงต่อเนื่อง หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามทั้งรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนมิถุนายน และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ซึ่งเราประเมินโทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Hawkish มากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าได้ ยกเว้นว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงมากขึ้น อนึ่งแม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสราว 87%) แต่เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญความเสี่ยงการเมืองฝรั่งเศส

ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 160-161 เยนต่อดอลลาร์ ยกเว้นว่าทางการญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินอีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า อาจต้องเห็นความผันผวนของค่าเงินเยนที่เพิ่มกว่าปัจจุบันพอสมควรก่อน

▪ ยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนมิถุนายน และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน (Inflation Expectations) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญที่จะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินยุโรปในช่วงนี้ คือ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและสามารถกดดันให้เงินยูโร (EUR) และตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มอ่อนค่าลง/ปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้

▪ เอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากทางการญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในกรณีที่เงินเยนผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรงกว่าคาด เช่น เงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 160-161 เยนต่อดอลลาร์ ในระยะเวลาสั้นๆ ในส่วนผลการประชุมธนาคารกลางนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.50% จนกว่าจะมั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2-4% แต่นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 3.9% ในเดือนพฤษภาคม

▪ไทย – ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงินในช่วงนี้ได้ โดยเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยจะคลี่คลายลง

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ามีกำลังมากขึ้น ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นจากโซนแนวรับได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวนอยู่ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทว่าเงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img