ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็ง-ทองคำร่วง ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.63-36.75 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯในคืนที่ผ่านมาออกมาผสมผสานและสะท้อนภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจ (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่าดัชนีสะท้อนภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ ก็ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ) ทว่าเงินบาทก็ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับระยะสั้น หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
แม้ว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มค้าปลีกและหุ้นกลุ่มธนาคาร ทว่าการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia +6.8% ก็มีส่วนช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้พอสมควร ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นกว่า +1.36% แต่ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.39%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.23% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มการบิน ตามการปรับตัวลดลงของหุ้น Airbus -9.4% จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการ ทั้งนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้น Novo Nordisk +4% หลังยาลดน้ำหนักยอดนิยม Wegovy ได้รับการอนุมัติในจีน
ส่วนตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงแกว่งตัว sideways แถว 4.25% แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดบางท่าน อย่าง Michelle Bowman จะย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มเงินเฟ้อ และพร้อมสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยได้ หากเงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าคาดหรือเร่งตัวขึ้น ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจแกว่งตัวในกรอบ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยบอนด์ยีลด์มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ทั้งนี้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯจะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง”
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงบ้าง ตามการย่อตัวของตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ออกมาผสมผสาน อีกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.4-105.7 จุด)
ส่วนราคาทองคำ จังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กลับสู่โซนแนวรับแถว 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะดังกล่าวในการทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ เพื่อประเมินความต้องการใช้พลังงานในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมัน ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้บ้าง (โฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมัน ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว 2 ครั้ง ในปีนี้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในช่วงโซนแนวต้าน 36.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยที่สามารถกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับหลักแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังตลาดหุ้นไทยก็เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่แรงกดดันในฝั่งตลาดบอนด์ก็ไม่ได้มีมากนัก ตราบใดที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงแกว่งตัว sideways และปัจจัยการเมืองไทยก็ยังไม่ได้เข้ามากดดันตลาดการเงินเพิ่มเติม
แม้เราจะประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมากนัก แต่การแข็งค่าต่อเนื่องก็ยังเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งในช่วงปลายเดือนเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ จากฝั่งผู้นำเข้าอยู่ ซึ่งทำให้เงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์