ธปท.ประเมินเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับ 1-3% ชี้หากปรับกรอบอาจเสี่ยงกระทบกลุ่มเปราะบาง ระบุจีนแข่งขันด้านการค้าโลกกระทบสินค้าในหลายหมวด
ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สานนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง เนื่องจากหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไปอาจจะกระทบกับรายได้ของกลุ่มเปราะบางและส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ โดยมองว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางของไทยคงที่อยู่ที่ระดับ 2% ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการเงิน
ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบภายในไตรมาสที่ 4/2567 โดยหน่วยงานต่างๆ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. จะอยู่ที่ระดับกว่า 1% ซึ่งหากดูแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปตามคาดการณ์ของธปท.ยังสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-3%
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในปี 65 เงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.สูงถึง 8% และใช้เวลา 7 เดือนในการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวในระดับ 2%
สำหรับการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำหนดเพื่อให้เอื้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับศักยภาพ หากอัตราเงินเฟ้อสูง จะทำให้เกิดความผันผวนมาก และภาคธุรกิจ ประชาชนจะวางแผนได้ยากขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้เป็นเรื่องแปลก โดยเป็นผลมาจากการที่จีนเข้ามาแข่งขันด้านการค้าโลกทำให้สินค้าไทยหลายหมวดได้รับแรงกดดัน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของทั่วโลกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ก็อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันด้านการค้าของจีนเช่นเดียวกัน แต่อาจมีบางประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็มองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ โดยเงินเฟ้อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น ต้นทุนเรื่องที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้ต่ำ