วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทพลิกแข็งค่า"ประธานเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทพลิกแข็งค่า”ประธานเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังประธานเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.86 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้างในลักษณะ sideways down (แกว่งตัวในช่วง 36.78-36.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงเล็กน้อยของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ที่แม้จะย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ แต่ก็มีการระบุว่า เฟดมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย พร้อมกับระบุถึงความเสี่ยงในการลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปและช้าเกินไป ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่าเฟดมีโอกาสราว 81% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ (XAUUSD) สู่ระดับ 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นกว่า +10% ของหุ้น Tesla ตามรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ที่สูงกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.62%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.42% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายหุ้นฝรั่งเศสออกมาบ้าง ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งรอบสองของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ Novo Nordisk -1.1% หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทางบริษัทปรับลดราคายาเบาหวานและยาลดน้ำหนัก

ส่วนตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 4.44% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ล่าสุด ที่ออกมาสูงกว่าคาด เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนใกล้ระดับ 4.40%-4.50% ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะสามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้จริง ถึงจะเห็นการปรับตัวลงชัดเจนของบอนด์ยีลด์ ซึ่ง เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” และหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง ก็จะเป็นจังหวะที่ดีในการเพิ่มสถานะการลงทุนในบอนด์ระยะยาว

สำหรับตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หลังรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.6-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วยช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในเดือนมิถุนายน รวมถึง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP พร้อมกับรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่ในช่วงต้นสัปดาห์ ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตล่าสุดออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามีความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่า รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ อาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีน (CNY) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้น ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในฝั่งสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และยอดการจ้างงานภาคเอกชน ที่อาจช่วยสะท้อนแนวโน้มของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) วันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินก็อาจเบาบางลง โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวันหยุด 4th of July โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด หรือสะท้อนภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง ส่วนเงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน อย่าง ดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ หลังเงินหยวนจีน (CNY) ได้ผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ หากข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุแนวต้านระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียที่ภาพเศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน ผันผวนอ่อนค่าลงตามได้ นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หรือยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายสินทรัพย์ไทย

ทั้งนี้มองว่าเงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯและประเมินกรอบ 36.60-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img