สุดท้าย “บิ๊กตู่ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ตัดสินใจเลือกที่จะ “ฉีก-ยกเลิก”
เพื่อรักษาฟอร์มการเมือง มากกว่าที่จะ “แก้คำสั่ง” เพื่อยุติร่อยรอยคุกรุ่นเล็กๆ ภายในพรรคร่วมรัฐบาล จากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 85 /2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด อันทำให้เกิดกรณี คนในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ใช่แค่ระดับหางแถว แต่เป็นระดับหัวหน้าพรรค-แกนนำพรรค ที่ออกมาแสดงปฏิกิริยา ไม่พอใจต่อคำสั่งนายกฯดังกล่าว ที่มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเดิมดูแลพื้นที่จังหวัดพะเยา เชียงราย และหนองบัวลำภู ให้มาดูแลพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต อันเป็นพื้นที่ดูแลเดิมของ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากประชาธิปัตย์ ที่เป็นคนสงขลา
ต้องเท้าความก่อนว่า คนในพรรคพลังประชารัฐ ที่ส.ส.ภาคใต้-แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ จับตามองทุกฝีก้าวด้วยความไม่วางใจ ก็คือ “ธรรมนัส” อันเป็นการจับตามองมาตั้งแต่ หลังพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช ให้กับพลังประชารัฐ โดยที่แม้ภาพภายนอก ผอ.การเลือกตั้งรอบดังกล่าว จะเป็น อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แต่ในความเป็นจริง คนที่เป็น แม่ทัพใหญ่จริงๆ ไปวางแผน ล้มประชาธิปัตย์ ตอนเลือกตั้งดังกล่าว ก็คือ “ธรรมนัส” นั่นเอง
ยิ่งมีข่าวว่า ตอนนี้ส.ส.ภาคใต้พลังประชารัฐ ร่วม 13 คน ย้ายไปอยู่ในสังกัด “ธรรมนัส” หมดแล้ว และยกให้ เป็นลูกพี่ใหญ่ โดยจะสนับสนุนให้ “ธรรมนัส” เป็น เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แทน อนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตร หลังโควิดจบลง แถมข่าวว่า “บิ๊กป้อม – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็มอบหมายให้ “ธรรมนัส” เป็นแม่ทัพใหญ่คุมพื้นที่ภาคใต้ของพลังประชารัฐเต็มตัว เพราะคนที่เคยช่วยพลังประชารัฐ ตอนช่วงเลือกตั้งปี 2562 หลายคนทั้งอดีตขุนทหาร นักธุรกิจในภาคใต้ มาช่วย พลังประชารัฐ ไม่ได้แล้ว เพราะไปเป็นสว.ชุดปัจจุบันกันหมด
ประชาธิปัตย์สายใต้ ส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะกลัว “ธรรมนัส” จะเข้ามาแผ่บารมี ในพื้นที่ภาคใต้ จนทำให้ภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของประชาธิปัตย์ในเวลานี้ อาจสั่นคลอนได้ หลังประชาธิปัตย์ สูญพันธ์ในกทม. ไม่มีส.ส.เขตกทม.แม้แต่คนเดียว แล้วหากประชาธิปัตย์ไม่สามารถตรึงฐานที่มั่นภาคใต้ได้ โดนทั้งภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ เข้ามาเจาะภาคใต้ไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ประชาธิปัตย์โคม่าแน่นอน
จึงไม่แปลก ที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีอาการกระฟัดกระเฟียด กับคำสั่งนายกฯที่ 85/2564 ดังกล่าว
ที่แม้ทางการเมือง เรื่องนี้อาจถูกมองเป็นเรื่องหยุมหยิม คนนอกอาจไม่เข้าใจว่า ประชาธิปัตย์ทำไมต้องคิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องแค่นี้ แต่สำหรับคนประชาธิปัตย์ ที่เห็นบทบาทของ “ธรรมนัส” มาแล้วตอนเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช ผสมกับอาการหวั่นวิตกการเมือง เกรงภาคใต้จะเสียที่นั่งมากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้การที่ประชาธิปัตย์ออกอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับเรื่องหยุมหยิมดังกล่าว มันก็พอเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้
จนสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตอนแรก ก็คงคิดเหมือนกับคนอื่น คือมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเป็นประเด็น คืออาจมองว่า แม้คำสั่งดังกล่าว จะให้ “ธรรมนัส” รับผิดชอบจังหวัดภาคใต้อย่าง สงขลา นครศรีธรรมราช แต่คนของประชาธิปัตย์ อย่าง นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยของพรรคปชป. ที่เป็นคนสงขลาอยู่แล้ว ก็ยังทำงานในพื้นที่สงขลา อะไรต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่ในทางการเมืองที่หากเป็นเรื่องของ พื้นที่-ฐานเสียง ที่ต่างพรรคแข่งกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะ หากพรรคที่แข่งกันในพื้นที่ คนของพรรคการเมืองหนึ่งสามารถ เอางบ-เอาโครงการ ไปลงในพื้นที่ได้ จนสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคตัวเอง แต่อีกพรรคทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ดูแลจังหวัดนั้นโดยตรง มันก็เป็นเรื่อง เซ็นซิทีฟทางการเมือง ที่อาจเกิดความไม่พอใจกันตามมา
จุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยสายเลือด ไม่มีฐานเสียง-พื้นที่ซึ่งต้องดูแล อาจมองข้ามไป หรือไม่เข้าใจ ไม่ทันได้คิด ในสิ่งที่คนในพรรคพลังประชารัฐ หรือในรัฐบาลที่มาจากสายพลังประชารัฐชงเรื่องมาให้เซ็นคำสั่ง
ทำให้เมื่อนายกฯรู้ว่าเกิดปัญหาความไม่พอใจขึ้นเล็กๆ จากคนประชาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ที่ครั้นจะไม่ทำอะไรเลย คนประชาธิปัตย์ก็ย่อมเก็บความไม่พอใจเอาไว้ แต่หากแก้คำสั่ง “ปลดธรรมนัส” ออกจากการดูแลพื้นที่ภาคใต้ดังกล่าว แล้วให้ “นิพนธ์” มาดูแลแทน มันก็ทำให้ “พล.อ.-ประวิตร-ธรรมนัส” เสียหน้าไม่ใช่น้อย
ดังนั้น ก็อย่างที่เห็น เมื่อวันพฤหัสดีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เลยตัดสินใจ ลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งสำนักนายกฯที่ 85/2564 ดังกล่าว โดยอ้างเรื่องสถานการณ์ระบาดโควิดรุนแรง แล้วให้เป็นหน้าที่และอำนาจของรองนายกฯในระดับพื้นที่เขต ตรวจราชการที่ได้มอบหมายไว้ก่อน แล้วเป็นผู้กำกับดูแลพื้นที่ระดับจังหวัดแทน
ที่มันก็ชัดเจนว่า การฉีกคำสั่งดังกล่าวที่ออกมา…แค่ไม่กี่วัน มันคือการหาทางออกแบบกลางๆ ของนายกฯ เพื่อไม่ให้เสียหน้ากันหมด ทั้ง นายกฯ-พล.อ.ประวิตร-พรรคพลังประชารัฐ-ธรรมนัส-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และตัวพรรคประชาธิปัตย์ เลยยกเลิกคำสั่งเสีย เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นอีกหนึ่งชนวนความขัดแย้งระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ต่อคำสั่งนายกฯดังกล่าวที่จบไปแล้ว ไม่ได้มีผลทางการเมืองอะไรมากนัก แต่เรื่องที่จะเป็นประเด็นมากกว่าที่จะทำให้ พรรคร่วมรัฐบาล อาจไม่ลงรอยกันได้ โดยเฉพาะ ระหว่าง พลังประชารัฐ กับสามพรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา” นั่นก็คือกรณีการ “เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” ที่จะกลับมาเป็นประเด็นเข้มข้นทางการเมือง หลังรัฐสภาเปิดประชุมช่วงเดือนพ.ค.นี้
หลัง พลังประชารัฐ ใช้ความเป็นพรรคใหญ่ มีส.ส.เกินหนึ่งร้อยคน เลยยื่นญัตติขอแก้ไขรธน.รายมาตรา ไปพรรคเดียวโดดๆ ไม่รอพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไปตั้งแต่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยประเด็นที่ต้องการให้เกิดผลก็คือ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง จากปัจจุบันระบบจัดสรรปันส่วนผสมและบัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้เป็นระบบบัตรสองใบ แยกคะแนนส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะเอื้อกับพรรคใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ ให้ได้ส.ส.จำนวนมาก จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาล มีอำนาจการต่อรองสูงกว่าตอนตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2562
ขณะที่สามพรรคร่วมรัฐบาล “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” ที่ต้องจับมือกันเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเบื้องต้นมีประเด็น เสนอให้แก้ไขเรื่องตัดอำนาจสว.ในการโหวตนายกฯออกไปด้วย อันเป็นประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วย แต่กระนั้น สามพรรคดังกล่าว ยังเสียงแตกกันอยู่ในเรื่อง บัตรสองใบ โดยเฉพาะ ภูมิใจไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะรู้ดีว่าหากใช้ระบบดังกล่าว อาจทำให้ ภูมิใจไทยได้ส.ส.ไม่ถึงเป้าที่วางไว้
ซึ่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้คือตัวเร่งทางการเมือง ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะกอดคอกันได้อีกนานแค่ไหน เพราะพลังประชารัฐที่มีแต้มต่อคือมีส.ส.จำนวนมาก ที่สำคัญมีสว. 250 คน ที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน พร้อมจะโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้แตะสว. จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐ มีโอกาสผ่านสูง แต่สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสามพรรคร่วมรัฐบาล หากฝ่ายพลังประชารัฐจับมือกับ สว.และพรรคการเมืองขนาดเล็ก โดยทั้งหมดจับมือโหวตทางเดียวกัน แบบไม่มีแตกแถว ก็ย่อมมีโอกาสโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล จนจอดสนิทตั้งแต่วาระแรก ขณะที่ฝ่ายภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา ก็อาจไม่โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐในบางเรื่อง เช่น ที่แก้ระบบการเลือกตั้ง
หากภาพออกมาแบบนี้ คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีทั้งโหวตคว่่ำ-งดออกเสียง ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ในทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็คือการไม่รักษาน้ำใจ ไม่ไว้หน้ากันทางการเมือง ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
โดยเฉพาะหากถึงขั้น พลังประชารัฐจับมือกับสว.และพรรคเล็ก ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสามพรรค ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา ตกในวาระแรก…ไปเป็นส่วนใหญ่ คือไม่ถึงกับตกวาระแรกหมด มีผ่านวาระแรกได้บ้างในบางเรื่อง แต่ถ้าตกเป็นส่วนใหญ่ ยังไงมันก็คือการที่พลังประชารัฐไม่แคร์ความรู้สึกของพรรคร่วมรัฐบาล
ถ้าผลออกมาแบบนั้น แรงสวิงทางการเมือง จะกลับไปที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ชูธงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด ตั้งแต่ตอนร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ เป็นแรงสวิงในประเด็นที่ว่า สุดท้ายแล้วเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างที่ต้องการ ประชาธิปัตย์จะอยู่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐต่อไปอีกหรือ หลังที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือเรื่องที่ประชาธิปัตย์เคยยื่นเงื่อนไขในการยอมร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แต่ถึงตอนนี้ ผ่านไปสองปี ไม่เกิดผลอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ
มีการคาดการทางการเมืองไว้ว่า ฝ่ายแกนนำรัฐบาล-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ คงประเมินว่า ยังไง…ต่อให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากสุดท้าย ร่างแก้ไขรรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนาฯ มีสะดุดในการโหวตวาระแรก หลายเรื่องที่เสนอแก้โดนคว่ำ ถ้าผลออกมาแบบนี้ ฝ่ายพลังประชารัฐก็ยังมองว่า ยังไง…สามพรรคดังกล่าว ก็ไม่มีทางกล้าขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จนอาจนำไปสู่การยุบสภา
เหตุนี้ ฝ่ายพลังประชารัฐเชื่อเช่นนั้น เพราะคงมองว่า พรรคภูมิใจไทยกำลังสะบักสะบอมอย่างหนักจากปมคลัสเตอร์โควิดทองหล่อและปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า ที่ทำให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ-อนุทิน ชาญวีรกูล เสียศูนย์การเมือง คะแนนนิยมดิ่งเหว
ส่วนประชาธิปัตย์ ฝ่ายพลังประชารัฐ ก็คงมองว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ยังสนุกกับการเป็นรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล ไม่พร้อมที่จะแตกหักกับพลังประชารัฐ จนนำไปสู่การยุบสภา เพราะหากยุบสภา ประชาธิปัตย์ ที่แทบไม่มีอะไรในมือ โดยเฉพาะผลงาน-กระแสนิยม แล้วขืนต้องไปลงเลือกตั้งช่วงนี้ ประชาธิปัตย์ กระอักแน่นอน
แวดวงคนการเมืองในรัฐสภาเลยประเมินกันว่า ถึงต่อให้พลังประชารัฐหักกับพรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา ก็คงแก้เกี้ยวบอกว่า เป็นเรื่องของสภาฯ ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร แล้วก็กอดคอเป็นรัฐบาลกันต่อไป ไม่ขอถอนตัว!!!
การขบเหลี่ยมระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยฝ่ายพลังประชารัฐ เป็นฝ่ายขี่คอพรรคร่วมรัฐบาล อาจได้เห็นฉากนี้ ตอนช่วงโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก ที่เชื่อว่าจะมี ควันหลงตามมาแน่นอนภายในพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจะบานปลายถึงขั้นแตกหัก เกิดการถอนตัว-มีการยุบสภา เกิดขึ้นหรือไม่ ประเมินแล้วก็มีโอกาส แต่หากถามแบบวัดใจสองแกนนำพรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ก็เชื่อได้ว่า ส่วนใหญ่ย่อมอยากเป็นรัฐมนตรี-พรรคร่วมรัฐบาลให้นานที่สุด จนอาจยอมให้ พลังประชารัฐขี่คอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรับน้ำหนักไม่ไหว ถึงตอนนั้น การสละเรือถึงค่อยตามมา
……………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย”พระจันทร์เสี้ยว”