วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSพิงศาลรัฐธรรมนูญปี43รับรอง200สว. ลุ้น“มงคล”ค่ายสีน้ำเงินนั่งปธ.วุฒิสภา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พิงศาลรัฐธรรมนูญปี43รับรอง200สว. ลุ้น“มงคล”ค่ายสีน้ำเงินนั่งปธ.วุฒิสภา

หลายคนกำลังรอลุ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะ ประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน และ รายชื่อสำรอง 100 คน หรือไม่ หลังผ่านการเลือกไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกสว. มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้อง ประเด็นต่างๆ และรายงานเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกวุฒิสภา

มีรายงานว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการรับรองผลการเลือก สว. ไว้ ระบุเพียงสามารถรับรองผลได้ เมื่อพ้นกำหนด 5 วันหลังการเลือกในระดับประเทศเสร็จสิ้น หาก กกต. เห็นว่า กระบวนการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น มีรายงานว่า ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณารับรองรายงานผลการเลือก สว. แม้เรื่องดังกล่าว จะอยู่ในระเบียบวาระการประชุม เนื่องจาก กกต.แต่ละคน ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน ถึงการรับรองผลการเลือก สว. จึงมีเพียงการพูดคุยถึงงาน ที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองผล โดยมีการนัดหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 10 ก.ค. เวลา 9:00 น.

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางในการรับรองสว.ที่หลายฝ่ายสงสัยว่า จะรับรองเพียงบางส่วน หรือว่ารับรองไปทั้ง 200 คนแล้ว ค่อยมาตามสอยคนที่ทำผิดหรือไม่นั้น ตามทิศทางคือ อาจจะมีการรับรองไปทั้ง 200 คน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ เมื่อเดือนเม.ย.2543 เรื่องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา

ซึ่งช่วงนั้น กกต.จัดเลือกตั้ง สว.รวม 200 คนเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 แต่รับรองผลเพียง 122 คน ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความเห็นแย้งกัน 2 ฝ่าย ระหว่าง “สว.ที่ครบวาระ” แต่ต้องรักษาการจนกว่าจะได้สว.ใหม่ครบ กับอีกฝ่ายคือ “สว.ใหม่” ที่เห็นว่า จำนวนสว.เท่าที่มีก็สามารถทำงานได้ ประธานสภาจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ฝ่ายไหน” ควรเป็นผู้หน้าที่ แล้วหากเป็น “สว.ใหม่” ที่ยังไม่ครบจำนวนนั้น จะสามารถดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ 

ซึ่งศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า 1.“สว.ที่ได้รับเลือก” ยังไม่ครบ 200 คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สว.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ และ 2.ในระหว่างที่ “สว.ที่ได้รับเลือก” ยังไม่ครบ 200 คนนั้น สว.ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2543 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้

ตามขั้นตอนหลังจาก กกต. ประกาศรับรอง 200 สว. และบัญชีสำรอง 100 คนแล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา สว. 200 คน ต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อรับบัตรประจำตัวของการเป็น สว. รวมถึงเอกสารและคู่มือการปฏิบัติหน้าที่เป็น สว. ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการเข้ารายงานตัวของ 200 สว.ชุดใหม่แล้ว ที่ห้องริมน้ำ ชั้น 1 อาคารวุฒิสภา 

อย่างไรก็ตาม การที่ กกต.ยังไม่รีบประกาศรับรอง อาจเป็นเพราะต้องการให้สังคมเห็นว่า ได้ตรวจสอบสำนวนคำร้องต่างๆ อย่างรอบคอบ เนื่องจากมียอดร้องเรียนสูงถึง 614 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติ ให้ลบชื่อคิดเป็น 65% คำร้องเกี่ยวกับเรื่องไม่สุจริตอยู่ที่ 14% เช่นประเด็นการให้ทรัพย์สิน และจ้างลงสมัครให้เรียกรับให้ลงคะแนน ขณะที่การร้องมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือมีอยู่ 3% ซึ่งมาถึงสัปดาห์นี้ ก็ยังมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จากผู้สมัครสว.ที่ตกรอบ ทั้งต้องการให้เปิดนับคะแนนใหม่ เพราะเชื่อว่ามีโพยกำหนด ให้ลงคะแนนใน 5 ลำดับแรก รวมทั้งมีการมีการฮั้ว บล็อกโหวตหรือไม่ อีกทั้งทนายความบางคนก็ขู่ว่า หาก กกต.เร่งให้การรับรองว่าที่สว. 200 คน จะยื่นฟ้องดำเนินคดีตามมาตรา 157

อังคณา นีละไพจิตร

แต่ที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของ “อังคณา นีละไพจิตร” ว่าที่ สว. ที่ออกมาให้ความเห็นว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จาก กกต. ว่า จะรับรองผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ซึ่งความจริงแล้ว กฎหมายระบุว่า ให้รับรองหลังจากเลือกไปแล้ว 5 วัน คือหลังจากวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งส่วนตัวมองว่า แม้จะมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก แต่เห็นว่าควรจะรับรองไปก่อน แล้วถ้าใครขาดคุณสมบัติสามารถมาสอยทีหลังได้ และในช่วงนี้ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบคร่าวๆ ได้ก่อน

เพราะตอนที่ไปสมัคร สว. ไม่ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติใดๆ ใช้เพียงบัตรประชาชน ให้ผู้สมัครกรอกรายละเอียด และดูเพียงใบรับรอง ดังนั้นการจะตรวจสอบว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ สามารถตรวจสอบได้แบบเร็วๆ ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่น คิดว่าน่าจะรับรองไปก่อน และค่อยมาตรวจสอบในรายละเอียด เนื่องจากแต่ละกลุ่ม มีสำรองอยู่แล้ว

ส่วนที่มีการร้องเรื่องคะแนนว่า “ส่อฮั้ว” หรือ “สมยอม” เพราะมีการลงคะแนนเหมือนกันเป็นชุดหลายคน “อังคณา” อธิบายว่า ตราบใดที่ยังเป็นกติกานี้ เลือกกี่รอบก็ยังเป็นเช่นนี้ เพราะกฎหมายออกมาแบบนี้ ดังนั้นต่อให้คนที่ไม่รู้จักกันเลย ก็ต้องไปขอคะแนนกัน จึงคิดว่าไม่มีทางที่จะแก้อะไรได้ เพราะกฎหมายระบุมาเช่นนี้ ส่วนตัวมองว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อรับรองชุดนี้ไปแล้ว ให้รีบแก้ไข ซึ่งตนพร้อมที่จะให้ ส.ว.ชุดนี้ หมดวาระไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ และค่อยเลือกกลับเข้ามาใหม่ ไม่เช่นนั้น เชื่อว่า จะไม่สามารถแก้ไขได้

“ต่อให้คุณ รับสมัครใหม่ ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราจะไปรู้จักกับใครได้อย่างไร เราแค่เสียเงินเข้าไป แล้วไปสมัคร และคนที่จะเลือกเรา ก็เสียเงินเข้าไป เราแทบไม่รู้จักใครเลย โดยเฉพาะต่างจังหวัด ขนาดเสิร์ชเข้าไปใน Google ยังไม่รู้จักใครเลย แต่ละคนได้คะแนนมาสูงๆ ดังนั้น บอกเลยว่า ถ้ายังไม่แก้กฎหมายเลือกกี่สิบครั้งก็ยังเหมือนเดิม” ว่าที่สว.ใหม่ ระบุ

คำให้สัมภาษณ์ของ “อังคณา” เท่ากับยอมรับข้อเท็จจริงว่า ผลการเลือก สว.ที่ออกมา เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้อย่างนี้ ต่อให้จัดเลือกใหม่บทสรุปก็ยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นควรจะรับรองไปก่อน แล้วถ้าใครขาดคุณสมบัติ สามารถมาสอยทีหลังได้

แต่เรื่องที่สังคมให้ความสนใจที่สุดคือ ความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายนักการเมืองบ้านใหญ่ ที่ถูกวิจารณ์ “ว่าที่ สว.ชุดใหม่” ส่วนใหญ่มาจาก “ค่ายสีน้ำเงิน” ตามข่าวระบุว่า มีถึง 130 กว่าชีวิต โดยยืนยันด้วยตัวเลขคือ มี “ว่าที่สว.” ที่มาจากจ.บุรีรัมย์ มากที่สุดถึง 14 คน แต่ละคนล้วนแล้วแต่ยึดโยงกับ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผ่านเข้ามาแค่ 9 คนเท่านั้น

เช่น กลุ่ม 1 “มงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีต ผวจ.บุรีรัมย์, อภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ (พี่ชายไตรเทพ งามกมล ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย) กลุ่ม 2 พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีต ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ กลุ่ม 4 ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข (สมัยอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สาธารณสุข), ฤชุ แก้วลาย 

กลุ่ม 5 ปวีณา สาระรัมย์ กลุ่ม 7 จตุพร เรียงเงิน กลุ่ม 9 วรรษมนต์ คุณแสน กลุ่ม 13 พรเพิ่ม ทองศรี หัวหน้าคณะทำงานรมช.มหาดไทย (ทรงศักดิ์ ทองศรี มท.3) กลุ่ม 16 ปราณีต เกรัมย์ (อดีตคนขับรถของชัย ชิดชอบ) กลุ่ม 17 ประไม หอมเทียน, ชาญชัย ไชยพิศ (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์) กลุ่ม 18 ศุภชัย กิตติภูติกุล ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ ประจำจ.บุรีรัมย์ และ กลุ่ม 20 วลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒ

นอกจากนี้ยังมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ “บิ๊กเกรียง” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4  ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) ว่าที่ สว.จากกลุ่มที่ 1 ที่ได้คะแนนสูงถึง 74 คะแนน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เปิดแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนลงสมัครชิงเก้าอี้สว.กันมากๆ แม้จะอ้างว่า ไม่ได้ต้องการให้สมาชิกสภาสูงเป็น “สีส้ม” แต่ในทางการเมือง ใครก็คงมองออกว่า “ธนาธร” ต้องการให้เครือข่ายมีบทบาทในสภาสูง หลังพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อกหัก ไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาล เพราะไม่ได้เสียงโหวตสว. แม้ว่าหลังจากนี้ สว.จะไม่มีสิทธิ์ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นชอบพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระ

ส่วน “อีกฝ่าย” เดิมเกมแบบเงียบๆ ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ความเคลื่อนไหว มีเครือข่ายมากกว่า มีการวางแผนอย่างรัดกุม ตั้งแต่การเลือก “สว.ระดับอำเภอ” แต่ที่สำคัญยังกล้าลงทุน ทำให้ทีมผู้สมัคร สว. ที่ “คณะก้าวหน้า” สนับสนุนให้ลงสมัคร ต้องล้มเหลว ได้สว.ในเครือข่ายไม่กี่คน

และน่าสังเกตว่า ภายหลังการเลือกตั้ง สว. เสร็จสิ้นลง “ธนาธร” ไม่ออกมาให้ความเห็นใดใดทั้งสิ้น เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้น

สำหรับบุคคลที่คาดว่าจะเป็น แคนดิเดตประธานวุฒิสภา คือ “มงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง หลังก่อนหน้านั้นมีชื่อ “บิ๊กเกรียง”พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ติดภาพการเป็นทหาร อาจทำให้ภาพลักษณ์สภาสูงไม่ดี จึงมีการผลักดันอดีตข้าราชการระดับสูงรายนี้ ขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งบทบาทของ สว.ต่อจากนี้ หาก กกต.ให้การรับรองคือ กลั่นกรองกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้ง ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ที่ดูจะมีความสำคัญ และมีผลต่อทางการเมืองคือ ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ

โดย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วในเดือนเม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ “จินดา มหัทธนวัฒน์” กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.67 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้จะมี “พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ” ประธานกรรมการ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ “ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์”, “พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์”, “สรรเสริญ พลเจียก” และ “อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป” ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี

นอกจากนี้ยังมี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 คือ “อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์” ส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ “วิทยา อาคมพิทักษ์” และ “สุวณา สุวรรณจูฑะ”

ขณะที่ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ จะมี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีคือ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับ “ปัญญา อุดชาชน” ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67

ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลก ที่กระบวนให้ความเห็นชอบการเลือก สว. จึงถูกร้องเรียนเพราะทุกพรรคการเมือง แม้กระทั่งทุกคนที่เข้ามาอย่างอิสระ ก็อยากมีบทบาทใน “สภาสูง” เพราะองค์กรอิสระบางองค์กร มีอำนาจให้คุณ-ให้โทษ “นักการเมือง” และชี้เป็นชี้ตาย “ฝ่ายบริหาร” อีกทั้งยังเป็นการ “ผลัดใบ” ครั้งสำคัญ หลังผ่านยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่าหลายคนกำลังรอติดตามบทบาท “สว.ชุดใหม่” ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ จะสร้างสีสันทางการเมืองได้มากขนาดไหน???

………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img