กกต.รับรอง สว.ใหม่ สอยร่วง 1 คนจากกลุ่ม 18 สื่อมวลชน “เจ้าของเสียงตามสาย” นั่งควบที่ปรึกษานายกอบจ. ขัดคุณสมบัติ “ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์” เฮ เลื่อนชั้นเสียบ เปิดสำนักงานรับหนังสือ 11-12 ก.ค.นี้ ก่อนรายงานตัววุฒิสภา
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ภายหลังการประชุม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน รวมทั้งพิจารณาคำร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการเลือกส.ว.และพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงภายหลังการประชุมว่า กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าการเลือก ส.ว.เป็นไปด้วยความถูกต้องสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการการเลือกส.ว.ของแต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับ 1-10 ของแต่ละกลุ่มให้เป็นส.ว. ส่วน ลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชนผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมหรืออื่นๆ ) ซึ่งกกต. สั่งระงับสิทธิสมัครชั่วคราว ( ใบส้ม) แก่ผู้ที่ได้รับเลือก ส.ว.จำนวน 1 คน ทำให้ผู้ที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 11 ของกลุ่มที่ 18 ต้องเลื่อนขึ้นไปอยู่ลำดับที่ 10 แทน ส่งผลเหลือบัญชีสำรองแค่ 4 คน ผู้ได้รับการประกาศรับรอง 200 คน สามารถมารับหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐานการรายงานต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30-16.30 น.
นายแสวง กล่าวต่อว่า นับแต่วันเลือกส.ว.ระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน กฎหมายกำหนดให้กกต.รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม สามารถประกาศผลการเลือกได้ แต่ด้วยเงื่อนไขตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ระบุว่า ถ้ากกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และเที่ยงธรรม ทั้ง 3 เงื่อนไข กกต.จึงจะประกาศรับรองผลการเลือกส.ว.ได้ โดยสิ่งที่จะนำมาพิจารณา ทั้ง 3 เงื่อนไข คือ ได้กระทำฝ่าฝืนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.หรือไม่ ซึ่งสำนักงานในฐานะหน่วยงานทางธุรการของกกต.ได้รวบรวมกลุ่มความผิดที่นำมาเป็นเงื่อนไขการประกาศรับรองผลส.ว. ดังนี้ 1.กลุ่มความผิดแรก คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 2. กระบวนการการเลือกส.ว. ตั้งแต่ระดับอำเภอวันที่ 9 มิถุนายน ระดับจังหวัดวันที่ 16 มิถุนายน และระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 3.ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อาจเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ จัดตั้ง บล็อกโหวต และฮั้ว เป็นต้น