นายกฯสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สกัดต้นตอการแพร่กระจาย ควบคุมประชากรปลาดังกล่าวไม่ให้มีมากเกินไป
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการแก้ไขการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะเร่งด่วน และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาด รวมถึงรับซื้อปลาดังกล่าวในราคากิโลกรัมละ 15 บาท อีกทั้งสั่งการให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริง
นายชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตาม(ร่าง)แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค.2567 –ก.ย.2568 ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 สำหรับ 5 มาตรการ 12 กิจกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม เน้นการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่างๆ มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม เน้นการประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เน้นการจัดหาแหล่งกระจายและรับซื้อ จัดหาแนวทางการใช้ประโยชน์
นายชัย กล่าวว่า มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน เน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือเมื่อพบการแพร่ระบาดให้กับองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำรวจและเฝ้าระวังในแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการรับมือ นอกจากนี้มีการดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เพื่อทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ซึ่งจะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลากลุ่มนี้จะเป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (ก.ค.2567 –ก.ย.2568)
นายชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567) ได้กำจัดปลาหมอคางดำแล้ว 623,370 ก.ก. ซึ่งแยกเป็นปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 ก.ก. และปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 ก.ก. โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะขยายผลเพื่อดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากระบบนิเวศของไทย
“นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชน ผ่านการพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม รอบด้าน ไม่ให้กระทบส่วนอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สกัดต้นตอการแพร่กระจาย ควบคุมประชากรปลาดังกล่าวไม่ให้มีมากเกินไป รวมถึงส่งเสริมการนำปลาหมอคางดำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ พร้อมแนะนำประชาชน ช่วยการเฝ้าระวังการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความรู้ความเข้าใจในเอเลี่ยนสปีชีส์ และหาแนวทางการรับมือต่อไป”นายชัย กล่าว