“พาณิชย์” เผยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกฟื้นตัว แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยว-ส่งออก คาดครึ่งปีหลังต้องใช้การลงทุนภาครัฐ-การท่องเที่ยวหนุน โชว์สถิติ 6 เดือนยอดจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 46,383 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.45 แสนล้าน อสังหาริมทรัพย์แชมป์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการบริโภคในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกเป็นพระเอกกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ครึ่งปีหลัง ต้องอาศัยการลงทุนของภาครัฐ โครงการกระตุ้นค่าใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ต้องจับตาปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่อาจกระทบกำลังซื้อ อัตราเงินเฟ้อ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มั่นใจนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนครึ่งปีหลังนี้
โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-มิ.ย.67) มีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่รวมทั้งสิ้น 46,383 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 47,286 ราย ลดลง 903 รายหรือ 1.91%) ทุน 428,647.49 ล้านบาท ลดลง 283,568.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 66.15% เนื่องจากปี 2566 มีบริษัทมูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการและแปรสภาพจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ 1.การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เดิม และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ใหม่ โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 138,208.40 ล้านบาท และ 2.การแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็น บริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 66 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3,656 ราย ทุน 16,013.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 2.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,521 ราย ทุน 7,255.18 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.59% และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 2,105 ราย ทุน 4,352.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.54%
ขณะที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 6,039 ราย ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการลดลง 7,097 ราย ลดลง 1,058 ราย หรือ 14.91% ขณะที่ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 49,604.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,143.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 54.72%
โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 603 ราย ทุน 1,209.18 ล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 340 ราย ทุน 4,863.76 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 197 ราย ทุน 457.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.99%, 5.63% และ 3.26% จากจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567
ขณะที่เดือนมิ.ย.67 มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 1,416 ราย ลดลง 243 ราย คิดเป็น 14.65% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 412 ราย คิดเป็น 41.04% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 4,903.58 ล้านบาท ลดลง 1,391.43 ล้านบาท คิดเป็น 22.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย. 66) และลดลงจากพ.ค. 67 มูลค่า 49,900.79 ล้านบาท คิดเป็น 91.05%
นอกจากนี้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 922,508 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,334,762.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.บริษัทจำกัด 719,281 ราย (77.97%) ทุน 16,110,875.13 ล้านบาท (72.14%) 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,757 ราย (21.87%) ทุน 472,044.11 ล้านบาท (2.11%) และ 3.บริษัทมหาชนจำกัด 1,470 ราย (0.16%) ทุน 5,751,842.85 ล้านบาท (25.75%)
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น จำนวน 103 ราย (27%) เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ จำนวน 63 ราย (16%) เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท 3.สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ราย (16%) เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท 4.จีน จำนวน 42 ราย (11%) เงินลงทุน 5,997 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง จำนวน 31 ราย (8%) เงินลงทุน 12,062 ล้านบาท
ขณะที่พื้นที่ EEC มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ จำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1.ญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท 2.จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท 3.ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และ 4.ประเทศอื่นๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท