“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปภัมภกเถิด”
นี้คือพระราชดำรัสอันเป็น “พระราชปณิธาน” ที่ประกาศพระองค์ต่อคณะสงฆ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตั้งแต่บัดนั้น..จนถึงบัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ ทรงตั้งมั่น ตั้งใจ ทะนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์อย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ทรงมีพระราชศรัทธาต่อคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์เราจึงเห็นภาพปรากฎว่า พระองค์ทรงนิมนต์พระภิกษุเข้าไปถวายกรรมฐาน สนทนาธรรมอยู่เนืองๆ ซ้ำทรงนิมนต์คณะพระภิกษุสงฆ์ตามพระอารามต่างๆ เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้ทั้งพระองค์และข้าราชบริพาร ได้สดับตรับฟังสิ่งที่เป็น “มงคลแห่งชีวิต”
ใน “สำนักพระราชวัง” เสมือนพระองค์ตั้ง “หน่วยงาน” ไว้หน่วยงานหนึ่งสำหรับอุปถัมภ์อุปัฎฐากดูแล “กิจการพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์” โดยเฉพาะ
ชาวพุทธหากติดตาม “ข่าวสาร” ทางพระพุทธศาสนาจึงมักเห็นว่า “ในหลวง” ส่งข้าราชบริพารไปถวาย ภัตตาหาร สังฆทาน ผ้าไตรตามพระอารามต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นประจำ “ทุกวัน”
ในส่วนที่พระองค์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพภัตตาหาร “เจ้าภาพประจำ” เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วัดโมลีโลกยาราม, มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย อันนี้ “เปรียญสิบ” เล่าเท่ารู้..ความจริงมีมากกว่านี้โดยเฉพาะ “วัดป่าสายกรรมฐาน”
“เปรียญสิบ” เล่ามานี้ยังไม่รวมที่ “ในหลวง” ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ทรงอุปถัมภ์ สร้าง บูรณะ พระอารามต่างๆ อีกมากมาย
ในส่วนของ “สมณศักดิ์” ก็ให้องคมนตรี 4 ท่าน ที่ตั้งเป็น “กลุ่มพิเศษ” โดยเฉพาะ เพื่อดูแลเรื่องนี้ ในการถวายเพื่อสร้าง “ขวัญและกำลังใจ” ให้พระภิกษุผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ รวมกระทั้ง “ทรงแก้ไขในสิ่งผิด” การคืนสมณศักดิ์ให้กับ “พระพรหมดิลก-พระพรหมสิทธิ” เป็นต้น
รัชสมัยนี้!! จึงมีคนกล่าวกันว่า “พระภิกษุ-สามเณร” ได้รับการยกย่องเชิดชู ดูแลยิ่งกว่า รัชสมัยใดๆ
ในส่วนของ “กิจการคณะสงฆ์”
ไม่ว่าคณะสงฆ์จะมีกิจการอะไรที่เป็น “ส่วนรวม” เช่น สอบบาลี สอบนักธรรม อบรมพระอุปัชฌาย์ หรือแม้กระทั้งอบรมพระวิปัสสนาจารย์
สิ่งของพระราชทาน “อุปการณ์การศึกษา” โรงทานพระราชทาน จิตอาสา เตรียมพร้อมสรรพ ณ ที่นั่น
แม้กระทั่งในส่วนของ “ประชาชน”
พระองค์มักส่งคติคำสอนอันเป็น “หลักธรรม” ทางพระพุทธศาสนา เพื่อ “สื่อสาร” ให้ประชาชนนำไปประพฤติปฎิบัติในชีวิตประจำวันอยู่เสมอๆ เช่น “ธรรมนาวา” วัง อันเป็น“หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์” หรือแม้กระทั้ง..ล่าสุด
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานภาพประกอบคติธรรมในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา 2567 อันมีใจความสำคัญว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั่นยอมดับไปเป็นธรรมดา”
เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา..ขอจงทรงพระเจริญ
………………
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]