วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พีรพันธุ์’ตั้ง‘บอร์ดกำกับน้ำมันเชื้อเพลิง’ ดึงอำนาจกำหนดภาษีน้ำมันคืนพลังงาน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พีรพันธุ์’ตั้ง‘บอร์ดกำกับน้ำมันเชื้อเพลิง’ ดึงอำนาจกำหนดภาษีน้ำมันคืนพลังงาน

กลไก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมัน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงด้านพลังงาน และเศรษฐกิจของประเทศ ถูกยกระดับจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาเป็น พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

แต่สิ่งตกค้างไปกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ไม่ตามมากับพ.ร.บ.คือ อำนาจหน้าที่สำคัญ ที่หายไปพร้อมกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” เป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการ “พิจารณากําหนดอัตราภาษีให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีต่ำสุดและไม่สูงกว่าอัตราภาษีสูงสุด” ของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ทั้งภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังมีอำนาจเรียกเก็บ หมายถึง “กระทรวงพลังงาน” มีอำนาจกำหนดภาษีน้ำมันแต่ละชนิดเองได้ในกรอบตัวเลขที่ไม่สูงกว่าหรือต่ำกว่าเพดานที่ “กระทรวงการคลัง” เรียกเก็บ

รวมไปถึงอำนาจกําหนดหลักเกณฑ์สําหรับการคํานวณราคา และกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กําหนดค่าการตลาดสําหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง กําหนดค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก๊าซ ณ คลังก๊าซ กําหนดราคาขายก๊าซ ณ คลังก๊าซ เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสําหรับก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากผู้รับ สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม กําหนดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือไม่ให้ได้รับเงินชดเชย กําหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคํานวณราคาขายปลีก และอำนาจกําหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อ “กบง.”

โดย “คณะกรรมการใหม่” ที่มาแทนที่ “กบง.” ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้ ที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” เป็นประธาน ถูกลดบทบาทเหลือเพียงทำหน้าที่บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และงานเปเปอร์ อย่างเสนอแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง แผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แผนเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรค เป็นต้น

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

เมื่อไม่มีอำนาจอย่างนี้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังาน จะช้าอยู่ใย จึงเร่งร่างกฎหมายใหม่ เพื่อยกเลิกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 เพื่อดึงอำนาจในการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันกลับคืนมา

สบช่องแล้ว ทั้งไม่ขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 32 ที่กำหนดให้การยกเว้นหรือการลดภาษีอากรใดจะทำได้ภายใต้กฎหมายที่ให้อํานาจจัดเก็บภาษีอากรนั้น และให้พิจารณาถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาและสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนายพีรพันธุ์หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเห็นว่า “ผ่าน”  

“เขา” จึงดึง “2 อำนาจ” กลับมาที่ “กระทรวงพลังงาน” เหมือนเดิม ทั้งด้าน การกำหนดภาษีน้ำมันเอง และ กลไกการดูแลกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีทั้งสองเครื่องมือในการกำกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมยกระดับคณะกรรมการให้เป็นเรคกูเลเตอร์ด้านน้ำมัน ทำหน้าที่กำกับกิจการน้ำมันของประเทศ เหมือนกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่กำกับดูแลเรื่องกิจการไฟฟ้าของประเทศเช่นกัน

“เขา” เคยบอกไว้ในทุกเวทีว่า ราคาน้ำมันบ้านเรา ไม่ได้มีแต่เนื้อน้ำมันเพียวๆ ในโครงสร้างราคาประกอบไปด้วย 1) 40-60 % เป็นต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน 2) 30-40% เป็นภาษีสรรพสามิต 3) 10% เป็นภาษีเทศบาล มหาดไทยนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น 4) 7% เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 5) 7% เป็นค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด 6) 5-20% จัดเก็บโดยกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

หากดูตามโครงสร้างราคาน้ำมันในบ้านเรา ณ 24 ก.ค.67 ราคาเนื้อน้ำมันอยู่ที่ 21-24 บาทต่อลิตร แต่ราคาขายปลีก 32-46 บาทต่อลิตร ส่วนที่บวกภาษีต่างๆ และการเก็บเงินเข้ากองทุนฯจัดไปเสีย 11-22 บาทต่อลิตร “เขา” เทียบให้ฟังว่า ในอาเซียนที่จะมีภาษีสรรพสามิตในเนื้อน้ำมันอยู่ 3 ประเทศ ในส่วนของเวียดนามเก็บ 1.7 บาท สิงคโปร์ 5.54 บาท ไทย 5.99 บาทต่อลิตร และของเรามีภาษีท้องถิ่นอีก 60 สตางค์ เป็น 6.50 บาทต่อลิตร

บ้านเราเก็บสูงกว่าสิงคโปร์ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 300,000 บาท ส่วนไทยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2566 เรามีรายได้ครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ยเดือนละ 29,502 บาทต่างกันสิบเท่า “พีรพันธุ์” จึงบอกว่า รายได้ต่างกันเป็นหลายเท่าแบบนี้ แต่เรากลับไปเก็บภาษีในเนื้อน้ำมันมากกว่า ทำให้ราคาน้ำมันของไทยสูง

“เขา” ก็เลยมองว่า ภาษีสรรพาสามิตและภาษีอื่นๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลราคาน้ำมันในระยะยาว จึงต้องดึงอำนาจกลับมาไว้ที่กระทรวงพลังงาน ไม่งั้นก็มีแต่กลไกกองทุนน้ำมันฯมาดูแล ซึ่งถังแตกแล้วแตกอีก ณ 21 ก.ค.67 ติดลบอยู่ 111,799 ล้านบาทจากตรึงน้ำมัน 64,200 ล้านบาท และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) 47,599 ล้านบาท

“พีรพันธุ์” บอกว่า “มาเลเซียจะจัดงบมาดูแลราคาน้ำมันใช้เงิน 3-4 แสนล้านบาทต่อปี คล้ายกองทุนน้ำมัน แต่ตอนหลังๆ มานี้ก็ทำไม่ไหวแล้ว และทยอยยกเลิกนโยบายนี้ ขณะที่เราก็เป็นห่วงกองทุนน้ำมันเหมือนกัน อย่างตรึงดีเซลต่ออีก 3 เดือนถึงสิ้นเดือนต.ค.67 ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งตามกรอบกฎหมายปัจจุบันจะให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตเพื่อให้ราคาน้ำมันลดลงก็เห็นจะยาก ก็ต้องใช้เงินกองทุนฯเดือนละ 2,000 ล้านบาท ในระยะยาวแล้วก็เลยต้องมาใช้แนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันมาช่วยด้วย”

ส่วนจะปรับอย่างไรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณ แต่ “เขา” บอกว่า ไม่ควรตั้งโจทย์ว่า จะเก็บรายได้เข้าสู่รัฐเท่าไหร่ เพราะจะไปกระทบกับประชาชน และสุดท้ายก็กลายเป็นภาระภาครัฐอยู่ดี 

“กฎหมายใหม่” ที่จะเข้ามารองรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการน้ำมันต่อไปนั้น ตอนนี้ยกร่างพ.ร.บ.เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบถ้อยคำของคณะทำงานด้านกฎหมาย และจะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดูอีกครั้ง พยายามให้มีผลบังคับใช้ก่อนปีใหม่

เป้าหมายคือให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เราจะมีกลไกอะไรใหม่ๆ ให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบทั้งต้นทุน ค่าการตลาด ราคาขายปลีก และคุณภาพน้ำมันได้บ้าง

……………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img