วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ทหาร’ผนึก‘ป.ป.ส.’ลุยปราบ‘ยาเสพติด’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ทหาร’ผนึก‘ป.ป.ส.’ลุยปราบ‘ยาเสพติด’

รมว.กลาโหม มีแนวคิดให้ ป.ป.ส. ออกบัตรประจําตัว ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้มีอํานาจในการปฏิบัติงานในด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด 

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 27 ก.ค.67 หากพูดถึง ปัญหายาเสพติดของไทย ยังคงเป็นประเด็นน่ากังวลที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ สัปดาห์ที่ผ่านมา “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม กล่าวถึงการร่วมแถลงข่าวตรวจยึดยาบ้าที่ จ.มุกดาหาร จำนวนมาก และมีข้อสังเกตว่า เมื่อดำเนินมาตรการจับกุมเข้มข้นมากขึ้น กลุ่มค้ายาเสพติดก็พยายามอย่างหนักเช่นกัน แต่เจ้าหน้าเกี่ยวข้องต้องไม่ลดละ หามาตรการเพิ่มเติม และกระชับปฏิบัติการด้วยความเข้มแข็ง รวดเร็วขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย รวมทั้งจะต้องจัดการความต้องการยาเสพติดภายในชุมชน ซึ่งขณะนี้จ้าหน้าที่ทหารได้ทำางานร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และตํารวจที่มีอํานาจจับกุมอย่างใกล้ชิด เมื่อตํารวจดําเนินการจับกุมไประยะหนึ่งแล้ว ถือเป็นไม้หนึ่ง ส่วน ฝ่ายทหารจะเป็นไม้สอง และเฝ้าตรวจช่องทางเข้าออกตามแนวชายแดนเข้มงวด โดยได้มีการประสานไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อขอให้ดําเนินการออกบัตรผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เพื่อให้ทหารมีอํานาจ และเมื่อได้มาก็จะเดินหน้าดําเนินการให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปีหน้า ซึ่งดูเหมือนว่าจะช้าเกินไปหรือไม่

@@@…….ตัวอย่างการสนธิกำลังของฝ่ายความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลักที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ลักลอบจําหน่ายยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 เพียงวันเดียว มีจำนวนมากถึง 12 เป้าหมายทั้งรายใหญ่รายเล็ก ตามมาด้วยการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทํางานในประเทศไทยเป็นจํานวนมากมาพร้อมด้วย ซึ่งหมายถึงการเพิ่มกำลังพล และเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายให้มากขึ้น กลายเป็นความจำเป็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ มิฉะนั้นการจัดการต่อปัญหายาเสพติดของไทยให้คลี่คลายลงมากกว่าปัจจุบันนี้นั้น อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ 

@@@…….อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ “รมว.กลาโหม” มีแนวคิดที่จะให้ ป.ป.ส. ออกบัตรประจําตัว ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้มีอํานาจในการปฏิบัติงานในด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด โดยมีกฎหมายรองรับ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น ถือว่ามีผลดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา การสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน และแหล่งพักในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งพัก/แหล่ง แพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ มีความจําเป็นที่จะต้องปฏิบัติด้วยกำลังติดอาวุธฯ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทันเวลา เพื่อให้สามารถปิดล้อม ตรวจค้น รวมทั้งตรวจสอบสถานที่พักอาศัย หรืออาคารสถานที่ต่างๆ และดำเนินการจับกุม หรือควบคุมตัวผู้ต้องหา ไว้เพื่อทําการสอบสวน และการสืบสวน รวมทั้งการตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายได้ 

@@@…….ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่สามารถดําเนินการในเรื่องดังกล่าวได้โดยตรง จําเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตํารวจ หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าร่วมปฏิบัติการ หรือต้องได้รับการร้องขอมาก่อน ทําให้หลายครั้งที่ผ่านมา การประกอบกำลัง และการใช้กำลังนั้น เป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่สามารถ ควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือตรวจค้นเป้าหมายในการกระทําผิดได้ทันเวลา ทําให้เป้าหมายหลบหนี หรือย้ายของผิดกฎหมายออกจากพื้นที่ได้หลายครั้ง ดังนั้น จากแนวคิดดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รมว.กลาโหม มีเข้าใจในปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้กับการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐได้อย่างถูกจุด ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และฝ่ายความมั่นคง มีบัตรผู้ช่วยเจ้าพนักงานแบบถาวร หรือกึ่งถาวรดังกล่าว ก็จะส่งผลให้เป็นการเพิ่มกําลังพลปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในกรณีต้องมีการใช้กำลังในการปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล และช่วยในการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดในประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 

@@@…….ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มั่นใจว่า การผนึกกำลังแน่นแฟ้นของ ป.ป.ส.ร่วมกับฝ่ายทหาร ซึ่งมีทรัพยาการที่เป็นหน่วยข่าวกรองทางทหาร และกำลังพร้อมยุทโธปกรณ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้น การที่ กระทรวงกลาโหม เสนอให้ ป.ป.ส.พิจารณาออกบัตรผู้ช่วยเจ้าพนักงานโดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจตามกฎหมาย แทนที่จะร้องขอรับการสนับสนุนเป็นกรณีๆ ไป ตามแนวคิดของ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นั้น จะทำให้มาตรการปราบปรามยาเสพติดภาครัฐ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเฉียบขาดมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ปัญหายาเสพติดของไทย คลี่คลายลงในระดับที่น่าพอใจได้สำเร็จในที่สุด

@@@…….ช่วงระหว่างวันที่ 21-26 ก.ค.67 ที่ผ่านมา พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะ เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพ โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไป กระทรวงกลาโหม สหราชอาณาจักร และได้เยี่ยมคำนับ พล.ร.อ.Sir Tony Radakin ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหราชอาณาจักร (CDS Chief of Defense Staff) ซึ่งนอกจากจะมีการหารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญแล้วยังมีการหารือถึงความสัมพันธ์ ระหว่างสองกองทัพที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึก การศึกษา การสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ในทุกระดับ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการดำรงการติดต่อระหว่างกันเพื่อธำรงความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

@@@…….จากนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าหารือข้อราชการกับ พลเอก Sir Jim Hockenhull KBE ADC Gen ผบ.หน่วยบัญชาการยุทธศาสตร์ (STRATCOM Strategic Command) สหราชอาณาจักร โดย ได้กล่าวถึงการพัฒนากองทัพไปสู่ความทันสมัย (modernization) การนำบทเรียนของกองทัพสหราชอาณาจักร มาใช้ในอนาคต รวมถึง เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ทางด้านความมั่นคง การปฏิบัติการในมิติคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและไซเบอร์ซึ่งเชื่อมโยงกับทุกมิติทางกายภาพ รวมทั้งการปรับโครงสร้างให้มีความพร้อมและทันสมัย สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังได้เข้าเยี่ยมคำนับ นาง Catherine West รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านอินโด-แปซิฟิก) สหราชอาณาจักร  โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในระดับรัฐบาลและระหว่างกองทัพ อีกทั้งมีการหารือเรื่องมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคด้วย

@@@…….พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร และคณะ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพไทย (ศปชส.ทท.) และชุดปฏิบัติการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (SCT) เพื่อรับทราบการปฏิบัติงาน อุปสรรค ปัญหาข้อขัดข้อง และให้กำลังใจกำลังพลผู้ปฏิบัติงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พร้อมทั้งรับฟังแผนการปฏิบัติงานในห้วงต่อไป ณ ห้องควบคุมการปฏิบัติการสื่อสาร กรมกิจการพลเรือนทหาร โดยมี พลโท ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร ให้การต้อนรับ โดยเสนาธิการทหารและคณะ ได้รับฟังการบรรยายสรุปและรับทราบผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพไทย (ศปชส.ทท.) และชุดปฏิบัติการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (SCT) ประกอบด้วย การปฏิบัติงานด้านการพิทักษ์รักษา ปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (Duty First) การให้ความสำคัญกับประชาชน กำลังพลและครอบครัว (People First) ความทันสมัยของหน่วย (Modernization) ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม (Support to MOD/GOV) รวมทั้งรับทราบการปฏิบัติงานของระบบสารสนเทศการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชน เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติ

@@@……กองทัพเรือ….พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมสังเกตการณ์การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ESSM (Evolved Sea Sparrow Missile) บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร โดยการฝึกยิงอาวุธครั้งนี้ ทำการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจำนวนสองนัดไปยังเป้าโดรน แบบ Banshee ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ โดยนัดแรกยิงด้วยลูกฝึกยิงโดรนจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ชนเป้าที่ระยะ 7 ไมล์ และนัดที่สองยิงด้วยลูกจริงจากเรือหลวงตากสิน ชนเป้าที่ระยะ 8.5 ไมล์ โดยการยิงอาวุธนำวิถีถูกเป้าครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำการยิงด้วยลูกจริง โดยอาวุธปล่อยถูกเป้าอย่างแม่นยำ ระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างถูกต้องสมบูรณ์ แสดงถึงความพร้อมของกำลังรบทางเรือในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

@@@……การฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่องในการฝึก ทร.65 และ การฝึก ทร.66 โดยการฝึก ทร.67 ในปีนี้เป็นการฝึกในสถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก มุ่งเน้นการทดสอบการปฏิบัติและการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการในสถานการณ์วิกฤตจนถึงขั้นป้องกันประเทศ การทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พ.ศ.2563 การทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการการฝึกระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังจากกองทัพบก และกองทัพอากาศเข้ามาสนับสนุน

@@@……การฝึกกองทัพเรือ 2567 แบ่งขั้นตอนการฝึกออกเป็นขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ หรือ CPX (Command Post Exercise) เป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ ตั้งแต่สถานการณ์ในภาวะปกติ สถานการณ์วิกฤติจนถึงขั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX (Field Training Exercise) เป็นการฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่างๆ

…………………………………………..

คอลัมน์  : “Military Key”

โดย.. “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img