“ปภพ” ความหมายคือ “ผู้นำ” มาถึงวันนี้ 34 ปีมาแล้วที่ใครๆ ต้องถามหา “ปภพ” หากอยากจะทำโครงการลดคาร์บอนเครดิตและเอาไปเคลมได้อย่างจริงจัง หรือไม่ได้ทำ แต่ขอซื้อจาก “ปภพ” เพื่อเอาไปทดแทนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากการดำเนินกิจการ
ปภพก่อตั้งโดย “ลิขิต นิ่มตระกูล” เป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย และก๊าซชีวภาพ แบบครบวงจร ระบบ Upflow Anaerobic Sludge Blanket (UASB) CSTR เพื่อผลิตพลังงานจากน้ำเสีย และของเสียจากอุตสาหกรรม แป้งมัน ปาล์ม เอทานอล น้ำยางข้นกระดาษ แปรรูปอาหาร กากมัน ขยะอินทรีย์ และหญ้าเนเปียร์ นอกจากนี้ยังมี ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ระบบ Reuse/recycle น้ำ จากโครงแรกของ “ปภพ” ขยายมาเรื่อยๆ
จนตอนนี้ทำมาแล้ว 102 โครงการทั่วประเทศ รวมถึงในเวียดนามและอินโดนิเซีย บำบัดน้ำเสียได้ 174,000 ลบ.ม.ต่อวัน ผลิตก๊าซชีวภาพ 1.174 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11,000 ตันCO2 เทียบเท่าต่อวัน
“ก๊าซชีวภาพ” ถือว่าเป็นพลังงานหมุนเวียนที่บูมมากเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ระบบนี้มาแก้ปัญหาที่ฟาร์มกับบ้านเรือนขัดแย้งกันอย่างหนักในตอนนั้น จากปัญหาการปล่อยน้ำเสียของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มหมูแถวราชบุรี นครปฐม รวมถึงโรงงานน้ำตาล โรงงานเอทานอล โดยกองทุนฯสนับสนุนเงินให้เปล่าส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพแบบไม่อั้นเป็นแบบ first come-first serve ใครมาก็ยื่นเสนอขายไฟฟ้าได้เลย ไม่ต้องรอเปิดรับซื้อเป็นรอบๆ
มาถึงวันนี้จะเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งหมดไปจากกลิ่นที่หายไป ไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ฟาร์ม โรงงาน และบ้านเรือนอยู่ด้วยกันได้จากเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียและก๊าซชีวภาพที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา
ดร.อภิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปภพ จำกัด เล่าว่า ในการทำพลังงานสะอาดตอนนั้น ยึดตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM ) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งเปิดให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถไปซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการทำโครงการ CDM ในประเทศกำลังพัฒนาได้ เรียกว่า Certified Emission Reduction หรือ CERs เพื่อนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตอนนั้นคาร์บอนเครดิตเริ่มมีมูลค่า แต่ยังเป็นภาคสมัครใจใครทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ไม่มีบทปรับอะไร ตลาดเป็น voluntary market
“ปภพ” ทำโครงการระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Anaerobic Process ครบวงจร ซึ่งตอนนั้นทุกโครงการที่เราไปทำ จะเสนอลูกค้าด้วยว่าทำคาร์บอนเครดิตหรือไม่ โดยเราจะลงทุนให้ฟรีใช้ระบบแบ่งสัดส่วนกําไร 2 ใน 3 มาที่เรา 1 ใน 3 กลับไปหาลูกค้า เพราะถือว่าเราเป็นผู้ลงทุนให้ และต้องอาศัยการเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วย พอทําโครงการไประยะหนึ่งก็มีพันธมิตรที่ทําเรื่องคาร์บอนเครดิตนำคาร์บอนเครดิตเอาไปขายให้ในตลาดยุโรป ตอนนั้นราคาคาร์บอนเครดิตพุ่งมากซื้อขายกันอยู่ที่ 15 ยูโรต่อตัน แต่เมื่อปี 2551 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ราคาก็ลดฮวบลงมา เหลือไม่ถึง 1 ยูโรด้วยซ้ำไป
มาถึงปัจจุบันเราก็ยังมีคาร์บอนเครดิตเหลือจากช่วง 10 ปีที่แล้วจากโครงการก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสีย ก็ยังมีขายอยู่ในตลาดยุโรปราคาอยู่ที่ประมาณ 2.5 ยูโรต่อตัน ซึ่งโครงการก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียจะได้คาร์บอนเครดิตค่อนข้างเยอะเยอะกว่าเทคโนโลยีผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ เมื่อเทียบจากฐานที่ว่าปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะไม่ได้มีการบำบัด เท่ากับก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียจะได้จาก 2 ส่วนหลักคือ สามารถกำจัดมีเทนได้ ซึ่งตามกฎจะได้เครดิต 25 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกส่วนเกิดจากการนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้เป็นพลังงานแทนน้ำมันเตาที่เคยใช้อยู่ ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ และลม หรือน้ำ แม้จะได้คาร์บอนเครดิตแต่ฐานการคำนวณต่างกัน
แต่อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีระบบ บำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ กันหมดแล้ว ไม่ทำไม่ได้ ด้วยข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้นฐานในการคำนวณคาร์บอนเครดิตจะเปลี่ยนไป เพราะถือว่าระบบนี้เป็นระบบปกติ โดยจะมีการทบทวนเทคโนโลยีทุกๆ 7 ปี ดังนั้นคาร์บอนเครดิตจากก๊าซชีวภาพจะลดไปเรื่อยๆ
เขา มองว่า โครงการที่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างพลังงานหมุนเวียนในบ้านเรา สามารถขายคาร์บอนเครดิตในราคาสูงที่ตลาดต่างประเทศได้ แต่เราต้องอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ส่วนโครงการ T-VER หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project : T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพัฒนาขึ้นนั้น คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ขายกันเองเฉพาะภายในประเทศไปขายตลาดต่างประเทศไม่ได้ เพราะทั่วโลกมีมาตรฐานที่ต่างจากเราอยู่
“หน่วยงานบางแห่งมักคิดว่า ก็เมื่อทำตามมาตรฐานโลกยาก และไม่อยากทํา อยากจะสร้างมาตรฐานของเราเองแล้วเราจะไปกดดันให้ทั่วโลกเข้ามารับมาตรฐานเรา โดยลืมไปว่าไทยเป็นประเทศเล็กๆเท่านั้น จะให้ต่างประเทศยอมรับมาตรฐานเราได้นั่นหมายถึงมาตรฐานเราจะต้องสูงกว่าของเขาเท่านั้น”
สิ่งที่ตนเองพยายามพูดในทุกเวทีคือ เราต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานระดับโลก นอกจากราคาคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับที่อยู่ในระดับสูงกว่าซื้อขายกันเองในประเทศแล้ว เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกำแพงทางการค้าที่เกิดจากคาร์บอนด้วย
ซึ่งโดยหลักการก็คือของอะไรก็แล้วแต่ที่จะเข้าไปขายยุโรป ถ้าผลิตคาร์บอนเกินกว่าที่เขากำหนดต้องถูกเก็บภาษีคาร์บอน แม้เราอาจได้เปรียบมีต้นทุนถูกกว่าเพราะใช้เทคโนโลยีเก่า แต่เมื่อไปเจอภาษีคาร์บอนสินค้าของเราก็จะเท่ากับหรือแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในยุโรป ยกเว้นว่าจะมีวิธีลดคาร์บอนในประเทศเราเท่านั้น
แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมและการแข่งขันทางการค้า จะทำให้ตลาดคาร์บอนในอนาคตจะต้องเปลี่ยนจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับในอีกไม่นาน สำหรับในบ้านเรากำลังจะมีพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเป็นภาคบังคับเหมือนทํา audit ทางด้านการเงิน แต่เป็น audit ด้านคาร์บอน เพราะไทยต้องทําตามพันธสัญญาที่ประกาศไว้ว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 หมายถึงภาพรวมของประเทศจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่องในทุกปี
โดยปัจจุบันยุโรปมีภาคบังคับแล้ว ประเทศอื่นก็จะมีตามมา ดังนั้น ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ จะเริ่มเสื่อมมูลค่าลง เพราะภาคสมัครใจคนละกระบวนการกับภาคบังคับเอาใช้ด้วยกันไม่ได้ ในฐานะที่ตนเองเป็นเลขาธิการสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทยด้วยนั้น เวลาเราประชุมกับภาครัฐได้พยายามผลักดัน แล้วก็เน้นเรื่องของความสําคัญของก๊าซชีวภาพมาตลอด เนื่องจากก๊าซชีวภาพยังมีความสำคัญอยู่ อย่ามองแต่เรื่องการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก หรือมองว่าซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพราคาสูงเกินไปจะทำให้ค่าไฟแพง ให้มองในมุมอื่นที่เกิดจากการจ้างงานในประเทศของเราเอง ในขณะที่โซลาร์เซลล์ หรือ ลม ซึ่งของเกือบทุกอย่างผลิตที่ต่างประเทศ เรานําเข้ามาอย่างเดียว หรือบางครั้งต้องจ้างบริษัทต่างชาติมาทํา ซึ่งแถบจะไม่มีคนไทยอยู่ในนั้นเลย และอีกไม่นานเราจะต้องพูดกันเรื่องปัญหาแผงโซล่าที่มันหมดอายุแล้ว จึงอยากให้ภาครัฐหันกลับมาสนับสนุนก๊าซชีวภาพ โดยพิจารณาเรื่องภาคความร้อนด้วย ซึ่งก๊าซชีวภาพสามารถทดแทนก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในโรงงานอุตสาหกรรมได้
ปัจจุบันก็มีความพยายามจากหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรม ที่อยากจะให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนโครงการก๊าซชีวภาพต่อไปให้ทรัพยากรถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตอนนี้ลูกค้าที่ทำโครงการก๊าซชีวภาพหลายโรงปล่อยความร้อนทิ้งไป อาจบอกว่ารัฐได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ไปแล้วรวม 335 เมกะวัตต์พร้อมกับพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เมื่อ 4 ตุลาคม 2565 รวมทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์ แต่จะเห็นได้ว่าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพสนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากราคารับซื้อ ( Feed-in Tariff : FiT) ที่ 2.07 บาทต่อหน่วยต่ำเกินไป ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดินรับซื้อ 2.1679 บาทต่อหน่วย หากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานรับซื้อ 2.8331 บาทต่อหน่วย
โดย สมาคมการค้าก๊าซชีวภาพ พยายามผลักดันมาตลอดว่าขอให้รับซื้อ 3 บาทกว่าต่อหน่วย แต่เราก็มักจะได้ยินการตอบกลับว่า ก๊าซชีวภาพกลายเป็นเรื่องปกติของโรงงานที่มีน้ำเสียจำนวนมากต้องทำอยู่แล้วจึงถือว่าไม่มีต้นทุน แต่ถ้าเราคิดให้ดีจะพบว่าถ้ารัฐส่งเสริมดีๆ และต่อเนื่อง พลังงานสีเขียวที่มีค่าจะไม่ถูกเผาทิ้งไปในอากาศ สามารถต่อยอดนำกลับมาทำ ก๊าซชีวภาพเหลว (แอลบีเอ็ม) ที่เรียกว่า Liquefied biomethane gas ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวได้
นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ได้ด้วยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ โดยส่งเสริมการนำฟางข้าว ใบอ้อย หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเข้าสู่กระบวนการก๊าซชีวภาพได้เกือบทั้งหมดลดการเผาในไร่นาได้อย่างดี ซึ่งตนเองเคยนำเสนอเอกสารไปยังหน่วยงานรัฐบางแห่งเมื่อต้นปี 2567 เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
“มีโรงงานติดต่อเรามาพอสมควรอยากได้ก๊าซชีวภาพไปทดแทนแอลเอ็นจี หรือแอลพีจี แต่เราทำให้เขาไม่ได้ เพราะโครงการแบบนี้จำเป็นต้องมีนโยบายรัฐมาสนับสนุนเป็นภาพใหญ่ให้เพื่อมุ่งแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาขายให้โรงงานที่ผลิตก๊าซชีวภาพ”
ยกตัวอย่างในอินเดียก็มีปัญหาในเรื่อง PM 2.5 รุนแรงกว่าไทยติดอันดับท็อป 10 ของโลก แต่อีก 3 ปีอินเดียจะไม่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 แน่นอน เพราะกำลังออกกฎหมายระดับชาติกำหนดให้การเผาวัสดุทางการเกษตรมีโทษทางอาญาทั้งปรับและจำคุก ทำให้โครงการก๊าซชีวภาพของอินเดียกำลังบูมมากในตอนนี้ ส่วนไทยเราเน้นขอความร่วมมือมากกว่าและให้ท้องถิ่นไปออกกฎข้อบังคับกันเองซึ่งไม่แรงพอ
ดร.อภิพงษ์ ย้ำว่า ระหว่างแอลเอ็นจีจากฟอสซิลกับแอลบีเอ็มจากพลังงานทดแทนต้นทุนต่างกัน หน่วยงานรัฐบอกให้เราไปคุยกับปตท. เอาเองถ้าอยากทำ แล้วแข่งกับราคาแอลเอ็นจีฟอสซิล ถ้าทำแอลเอ็นจีจากก๊าซชีวภาพได้ถูกกว่าค่อยรับซื้อ “ผมว่ามันจบตั้งแต่คิดแบบนี้” เพราะแอลเอ็นจีที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพเป็นโครงการขนาดเล็กต้นทุนแพงกว่าก๊าซธรรมชาติมหาศาล ทั่วโลกหากเป็นแอลเอ็นจีจากก๊าซชีวภาพจะมีราคาพรีเมี่ยมสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เรายังเชื่อมั่นในก๊าซสีเขียว เราจะเดินหน้าทำนำร่องในปีหน้า
สุดท้ายอยากจะฝากว่าหากประเทศไทยต้องการเข้าถึงเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ควรคำนึงถึงพลังงานทดแทนที่หลากหลาย ไม่ควรจำกัดเฉพาะพลังงานบางประเภท ยกตัวอย่างเช่น โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้แค่ 5 ชม.ต่อวันเฉพาะช่วงที่มีแดดแรง 9-16.00 น. ขณะที่ก๊าซชีวภาพ 1 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้ 24 ชั่วโมง หมายความว่าหากจะเอาโซล่าร์เซลล์มาแทนก๊าซชีวภาพต้องติดตั้ง 5 เท่าแทนที่จะติด 1 เมกะวัตต์แต่ต้องเป็น 5 เมกะวัตต์ และต้องติดแบตเตอร์รี่อีก ส่วนพลังงานลมในประเทศแถวเส้นศูนย์สูตรลมอย่างบ้านเราไม่ได้แรงเหมือนยุโรปหรือสหรัฐ ขณะเดียวกันลมมีฤดู และมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
มาถึงตรงนี้เราได้คุยกับ “ลิขิต นิ่มตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปภพ จำกัด บอกว่า เราอาจจะมองว่าภาคอุตสาหกรรมคงทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันไปเยอะเพื่อให้ค้าขายได้ แต่จริงๆ แล้วโรงงานอุตสาหกรรมไม่น้อยที่เน้นขายในประเทศ หรือไม่ได้ส่งออกไปยุโรปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก อย่างโรงงานที่อาจมีน้ำเสียก็ไม่ใช่ทุกโรงจะติดตั้งเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ
ดังนั้นแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุ Carbon Neutrality และ Net Zero ภาครัฐต้องออกมาเป็นภาคบังคับไม่ใช่ภาคส่งเสริม เพราะตลาดการค้ากำลังไปสู่ภาคบังคับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งออกไปตลาดยุโรปจะถูกบังคับในปี 2568 ซึ่งไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกจะกระทบแน่นอนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจะเข้ามาตอบโจทย์ สามารถกำจัดน้ำเสียช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ผลิตพลังงานความร้อนใช้แทนน้ำมัน และผลิตเป็นไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งเทคโนโลยีของเราเป็นการคิดค้นโดยบริษัทฯเอง ตอนนี้ราคาถูกลง 40% จากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ก็จะไม่ลดลงไปกว่านี้แล้ว เพราะถึงจุดต่ำสุดของราคาที่จะลงได้แล้ว โครงการที่เราทำในปัจจุบันมีตั้งแต่ขนาดเล็ก 50 ล้านบาทถึง 250 ล้านบาท
สำหรับเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพนั้นมีการพัฒนาต่อยอดกันอยู่ไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ ตอนนี้เราได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำก๊าซชีวภาพมาผลิตวัสดุนาโน เช่น ขั้วแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมยา หรือเสื้อผ้า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนผลิตเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทฯจะทําเป็นโมเดลสตาร์ทอัพ ทุกอย่างจะชัดเจนในกลางปี 2568 เริ่มต้นนำร่องโครงการในประเทศก่อน แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ในไทยจะไปที่ยุโรปหรือสหรัฐ อาจจะเป็นโมเดลร่วมลงทุนหรือขายไลเซนต์
“ถ้าเราจะแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงๆ ต้องมองว่าเป็นปัญหาอย่างจริงจังก่อน และต้องยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เพิ่มขึ้นถึงจะแก้ได้ และต้องร่วมกันแก้ไข ไม่เช่นนั้นในอนาคตจะเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดเหตุทางสิ่งแวดล้อมที่เราป้องกันไม่ได้ ขณะเดียวกันไทยต้องมีโครงการพลังงานสะอาดรองรับที่มากพอและหลากหลาย เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่กำลังเติบโตให้อยู่กับประเทศไทย”
ดร.อภิพงษ์ เสริมว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทนของเราต้องดึงดูดนักลงทุนได้จริงๆ ต้องมีสัดส่วนมากกว่านี้อาจจะบอกว่าปลายแผนพัฒนากำลงผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2024) ที่มีสัดส่วนพลังงานทดแทนถึง 51% แต่ก็ยังถือว่ายังน้อยเกินไป เพราะอย่าลืมว่าเราเน้นโซลาร์เซลล์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้แค่ 5 ชม.เท่านั้น ควรเพิ่มสัดส่วนการส่งเสริมก๊าซชีวภาพที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชม.ในราคาที่สมเหตุสมผลดึงดูดให้เกิดโครงการจริงๆ ส่วนผลต่อค่าไฟฟ้านั้นเราเคยมีผลการศึกษาพบว่าพลังงานทดแทนทำให้ค่าไฟเพิ่มไม่กี่สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น และหากเทียบกับสิ่งที่นักลงทุนอุตสาหกรรมมูลค่าสูงตัดสินใจมาลงทุนในไทยเพราะไฟฟ้าสีเขียวเราจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืนมามากกว่าเป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิต