นายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใน 90 วัน ใน 25 จังหวัดพื้นที่เร่งด่วน กำชับให้ปรับการอนุมัติเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ หรือทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว ขณะที่เลขาธิการ ป.ป.ส. เผยผลสำรวจ NIDA POLL Pre-test พบประชาชนรู้สึกปัญหาลดลง เชื่อมั่นและพึงพอใจมีทิศทางที่ดีขึ้น
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 30 ก.ค. ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการการติดตามเร่งรัด การบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 8/2567 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับพลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และผู้ว่าราชการ 25 จังหวัด และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขาธิการ ป.ป.ส. เผยผลสำรวจ NIDA POLL ทำ Pre-test สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนรู้สึกว่าปัญหาเริ่มลดลงรวมทั้งมีความเชื่อมั่น และมีความพึงพอใจในการดำเนินงาน ในทิศทางที่ดีขึ้น
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า วันนี้ครบ 60 วันของการปฏิบัติการเร่งรัดปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน ใน 25 จังหวัด พื้นที่เร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ส. สนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนแก่จังหวัด รวม 270 ล้านบาท ซึ่งจะมีเวลาอีก 30 วัน จึงตั้งใจมารับฟังพร้อมมอบแนวทางให้กับทุกส่วนราชการ เพื่อการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ป.ป.ส. และจังหวัดกำหนดวัน D-DAY เปิดปฏิบัติการปราบปราม ปิดล้อม ตรวจค้นเครือข่ายผู้ค้ารายย่อยและรายใหญ่ในพื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายผล ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายและทรัพย์สิน เพื่อตัดวงจรยาเสพติดให้หมดไป และให้ มท. และ ตช. นำรูปแบบ “ธวัชบุรีโมเดล” จ.ร้อยเอ็ด มาทำการ X-Ray ชุมชน เพื่อแยกผู้เสพยาเสพติด ค้นหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในขั้นตอนของการบำบัดยาเสพติด โดยให้จังหวัดจัดทำระบบในการติดตามดูแล ช่วยเหลือ และเฝ้าระวังภายหลังจากที่ผู้ผ่านการบำบัดรักษากลับสู่ชุมชน
นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ มท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบําบัดรักษา ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซ้ำอีก และให้ มท. ตช. และ ป.ป.ส. จัดระเบียบสังคมในพื้นที่สถานบันเทิง สถานบริการ สถานศึกษาและบริเวณโดยรอบ โดยขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติด
นายกรัฐมนตรีห่วงใยและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ เยียวยา เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน โดยให้ ป.ป.ส. พิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บหรือทายาทของผู้เสียชีวิตเพื่อเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ขอให้ ตช. เร่งรัดจัดการประชุมเพื่อจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานยาเสพติดโดยเร็ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติด้านยาเสพติดต่อไป ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ 3 เดือนแล้ว ให้ ป.ป.ส. สรุปผลการปฏิบัติงานและทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2568 ต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวรายงานว่า สำนักงาน ป.ส.ส. ได้เร่งรัด “ปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (6 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) โดยการกำหนดเป้าหมายให้สถานการณ์ปัญหายาเสพติดลดลง ประชาชนมีความเชื่อมั่น และพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการประชุมเร่งรัดการปฏิบัติงานมาแล้วทั้งหมด 7 ครั้งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ให้ NIDA POLL ไป Pre-test สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนรู้สึกว่าปัญหาเริ่มลดลง รวมทั้งมีความเชื่อมั่น และมีความพึงพอใจในการดำเนินงาน ในทิศทางที่ดีขึ้น ขอกราบขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ขวัญ กำลังใจ และคำแนะนำในวันนี้ ซึ่งขับเคลื่อนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เร่งรัดการปฏิบัติงานให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อจะมุ่งขยายการปฏิบัติไปสู่ 52 จังหวัดที่เหลือต่อไปในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568