บทเรียนที่ได้รับจากการฝึกผสม Pitch Black 2024 ยืนยันได้ว่า การคัดเลือกแบบเครื่องบินขับไล่ที่จะจัดหามาทดแทนอากาศยานรบที่เก่า ล้าสมัย และกำลังจะปลดประจำการจำนวนมากของกองทัพอากาศ ได้พิจารณามาอย่างรอบคอบ
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 3 ส.ค.67 สัปดาห์นี้ จะมาทำความรู้จักกับ การฝึกผสมของกำลังทางอากาศ Pitch Black 2024 ณ เครือรัฐออสเตรเลีย Commonwealth of Australia ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการฝึกของกำลังทางอากาศผสมขนาดใหญ่ที่ให้คุณค่าการฝึก Trainning Value สูงที่สุดในโลก และเพิ่งจะเสร็จสิ้นไป
@@@…….การฝึกผสม Pitch Black 2024 ครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-2 ส.ค.67 และปกติจะจัดขึ้นทุก 2 ปี เน้นที่ภารกิจการบินรบทางอากาศ กับการประกอบกำลังโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งการครองกาศ Air Superorityในพื้นที่การรบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบินรบของเครื่องบินขับไล่ของนานาประเทศจำนวนมาก ปฏิบัติการร่วมกัน โดยเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 43 ปีของการฝึกผสมบนแผ่นดินออสเตรเลีย Australia มีประเทศที่เข้าร่วม 20 ประเทศ และเครื่องบินกว่า 140 ลำจากทั่วโลกเข้าร่วม โดยมีบุคลากรเข้าร่วม ประมาณ 4,435 คน การฝึกถูกจัดขึ้น ณ ฐานทัพอากาศ RAAF Base Darwin และฐานทัพอากาศ RAAF Base Tindal ในเขต Northern Territory เป็นหลัก โดยมีการวางกำลังอากาศยานรบเพิ่มเติมที่ปฏิบัติการจากฐานทัพอากาศ RAAF Base Amberley ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองอิปสวิชในควีนส์แลนด์ pswich in Queensland ไปพร้อมด้วย
@@@…….Pitch Black 24 ให้ประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เข้าร่วมการฝึกจากต่างประเทศ โดยจะให้ประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการส่งกำลังไปปฏิบัติภารกิจในระยะไกล หรือนอกประเทศ โดยบางประเทศต้องเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อเดินทางมายังออสเตรเลีย รวมทั้งเน้นไปที่การบินรบทางอากาศในเวลากลางคืนเท่านั้น .. ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ของไทยเข้าร่วมการฝึก มาตั้งแต่ ปี 2547 ซึ่งในปีนี้ กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบิน JAS 39 C/D Gripen สังกัดฝูงบิน 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมการฝึก จำนวน 5 เครื่อง เพื่อที่จะมีอากาศยานพร้อมรบ เข้าฝึกได้ตลอดเวลาจำนวน 4 เครื่อง มีนักบิน และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการฝึกทั้งหมด 101 คน เข้าร่วมการฝึก ทำการบินทั้งในเวลากลางวัน และเวลากลางคืน โดยจะเริ่มตั้งแต่การบินหมู่ขนาดเล็ก ไปจนถึงการบินประกอบกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ หรือ Large Force Employment ที่แบ่งเป็นฝ่ายน้ำเงิน และฝ่ายแดง โดยให้แต่ละชาติสลับกันเป็นข้าศึกสมมุติ
@@@…….มีวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อเรียนรู้การปฎิบัติงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง ความสงบ และความมีเสถียรภาพ โดยกำหนดการฝึกภาคสนามที่เข้มข้นจริงจังอย่างยิ่ง ระหว่างวันที่ 12 ก.ค.-2 ส.ค.67 โดยวางกำลัง ณ ฐานทัพอากาศ RAAF Base Darwin เป็นหลัก โดยกำลังทางอากาศ และเครื่องบิน Gripen JAS 39 C/D Gripen สังกัดกองบิน 7 ของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงผลการฝึกที่โดดเด่นอย่างยิ่ง มีอัตราการยิงอากาศยานข้าศึกตกที่สูง High Rate of Kill เพื่อให้ได้มาซึ่งการครองอากาศ อันถือเป็นเงื่อนไขชี้ขาด เป็นที่น่าพอใจ และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ
@@@…….บทเรียนที่ได้รับจากการฝึกผสมประการหนึ่งในครั้งนี้ เป็นการยืนยันได้ว่า การคัดเลือกแบบเครื่องบินขับไล่ที่จะจัดหามาทดแทนอากาศยานรบที่เก่า ล้าสมัย และกำลังจะปลดประจำการจำนวนมากในเร็ววันนี้ของ กองทัพอากาศ โดย คณะกรรมการได้เลือกเครื่องบินรบ Gripen พร้อมระบบอาวุธอากาศสู่อากาศ Meteor Missile จากประเทศสวีเดนนั้น กองทัพอากาศได้พิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว รวมทั้ง คาดหวังว่า ฝ่ายการเมืองจะตระหนักรู้ถึงประเด็นความมั่นคงต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มั่นใจว่า ด้วยยุทโธปกรณ์ที่เป็นเครื่องบินรบสมรรถนะสูง และระบบอาวุธฯ ฉลาดที่เหมาะสมนั้น นอกจากความมั่นคงด้านป้องกันประเทศของชาติจะได้รับการประกันแล้ว ก็จะทำให้กองทัพอากาศของไทย สามารถยกระดับขีดความสามารถของกำลังทางอากาศไปสู่กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค One of The Best Air Force in ASEAN ตามยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ของกองทัพอากาศให้สำเร็จได้ในที่สุดบนพื้นฐานของงบประมาณของชาติที่มีจำกัดมาพร้อมด้วย
@@@…….ที่กองบัญชาการกองทัพไทย….พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/ผู้อำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (กอ.นชท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และจังหวัดชายแดน 32 จังหวัด เข้าร่วมประชุม
@@@……การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดนไทย – ลาว โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล หารือกันเมื่อวันที่ 3 ก.ค.67 โดยได้รับความเห็นชอบร่วมกัน ได้แก่ การประสานงานด้านการข่าว การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการสืบสวนและการขยายผลจับกุม การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ให้ประชาชนห่างไกลยาเสพติด และความร่วมมือในระดับพื้นที่ โดยขอให้หน่วยงานความมั่นคง ตลอดจนกองกำลังในพื้นที่ชายแดน จังหวัดและแขวงที่มีชายแดนติดกันของทั้งสองประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
@@@…….สำหรับผลการประชุมฯ ในครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกรอบแนวทางการยกระดับความร่วมมือเชิงรุกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดน ไทย-ลาว โดยใช้กลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ผลักดันความร่วมมือกับฝ่ายลาวในระดับพื้นที่ โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในห้วงเดือน ก.ย.67 จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน การประสานงานติดตั้งเครื่องมือโทรมาตร (วัดระดับน้ำและการระบายน้ำ) ในพื้นที่ บ้านโจตาดา จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนตามแนวชายแดนล่วงหน้า 8-10 ชั่วโมง การร่วมมือแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Scammer, Call Center) อีกด้วย
@@@…….กองทัพเรือ….พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดงาน นาวีวิจัย 2024 “นาวีวิจัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง” โดยมี พล.ร.ต.อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ จากนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ 2567 ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือ ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการทหาร ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของกองทัพเรือและหน่วยงานผู้ใช้ทั้งภายในและภายนอก โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์เป็นหลัก เพื่อนำผลการวิจัยเข้าสู่สายการผลิตและบรรจุใช้ประจำการอย่างจริงจัง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถ โครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางเรือและทะเล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
@@@…….สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานงานและดำเนินงานโครงการวิจัย จึงได้จัดงาน “นาวีวิจัย 2024” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัย นักประดิษฐ์และคณะทำงาน ที่สร้างผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ทั้งของกองทัพเรือ เหล่าทัพ และหน่วยงานวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยของกองทัพเรือในอนาคต ที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการของกองทัพเรือ มีความสนใจการดำเนินการวิจัยกันมากขึ้น อันจะเป็นการนำพาไปสู่การวิจัยเพื่อพึ่งพาตนเองต่อไป
@@@…….ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวขอบคุณและแสดงความยินดีกับนักวิจัย นักประดิษฐ์หน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัลจากความเพียรพยายามในการใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันผลักดันและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางการวิจัย อีกทั้งยังส่งเสริมโครงการวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความเจริญก้าวหน้าสู้หน่วยงานของกองทัพเรืออย่างต่อเนื่อง หากได้มีการต่อยอด ผลงานเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติต่อไป
@@@……นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยของภาครัฐอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (ศวอ.ทอ.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชน (สทป.) รวมทั้งผลงานวิจัยของภาคเอกชนที่น่าสนใจอีกหลายบริษัท ที่นำมาจัดแสดง เช่น โครงการวิจัยฯ ระบบเฝ้าตรวจและรายงานเคลื่อนที่ (R-SIM) โครงการวิจัยฯ อากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเลแบบที่ 2 (Marcus-B) โครงการวิจัยฯ การผลิตและทดสอบใบจักรเรือแมงกานีสอะลูมิเนียมบรอนซ์ เป็นต้น
………………………………………..
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”