วันจันทร์, กันยายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“เรือนจำ-รพ.ตร.”อ่วม-ช่วย“ชายชั้น14” “กสม.”ชี้ชัดเอื้อประโยชน์-ละเมิดสิทธิฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เรือนจำ-รพ.ตร.”อ่วม-ช่วย“ชายชั้น14” “กสม.”ชี้ชัดเอื้อประโยชน์-ละเมิดสิทธิฯ

ประเด็นใหญ่ที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สรุปรายงาน เรื่องร้องเรียนการรักษาตัวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มีการกระทำที่ขัดต่อความเสมอภาค และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ โรงพยาบาลตำรวจ สุ่มเสี่ยงการกระทำผิดต่อหน้าที่ พร้อมส่งรายงานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย “วสันต์ ภัยหลีกลี้” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ “ภาณุวัฒน์ ทองสุข” ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์

วสันต์ ภัยหลีกลี้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ได้ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ

เราไปไล่เรียงเหตุผลของ กสม. ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน การรักษาตัวชั้น 14 ที่ รพ.ตำรวจ ของคุณทักษิณ ดังนี้

1.เมื่อพิจารณาจากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า อาการป่วยของ “ทักษิณ” เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตราย เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้

การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่งตัว “ทักษิณ” ออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 ส.ค.66 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง ตามสมควรแล้ว

2.กรณีโรงพยาบาลตำรวจรับตัว “ทักษิณ” ไว้รักษาที่ห้องพิเศษชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

การที่ “ทักษิณ” เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติ ซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ให้ข้อมูลว่า เป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า “ทักษิณ” ยังพักที่ห้องพิเศษดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลฯชี้แจงว่า “ทักษิณ” มีภาวะวิกฤติสลับปกติ

หาก “ทักษิณ” ป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติ ตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถทราบได้ว่า มีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ

กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่ง อาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่นๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป

จึงเห็นว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้ ทักษิณ” พักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำฯไม่ได้โต้แย้ง จนกระทั่ง “ทักษิณ” ออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้ “ทักษิณ” ได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3.รพ.ตำรวจ – เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ซึ่งเป็นวันที่ “ทักษิณ” ออกจากการควบคุมของเรือนจำฯ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ “ทักษิณ” สามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันที สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และปฏิบัติภารกิจได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต

ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า “ทักษิณ” มีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นานถึง 181 วัน ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขัง ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน

ชง “ป.ป.ช.” สอบ “เรือนจำ-รพ.ตำรวจ” เอื้อ “ทักษิณ”

กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม. จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ทั้งนี้ กสม. ยังมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ

1.กำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นว่านี้อีก และขอให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หากเข้าข่ายกรณีดังกล่าวเพื่อความโปร่งใส

3.ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 กรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวในห้องพิเศษ ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบ

ส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา แทนการรับทราบเพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร

…………………………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img