วันจันทร์, กันยายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSพลังงานต้องอธิบายเยอะถึงความเป็นกลาง แผน“PDP 2024”เป้าหมายอยู่ตรงไหน?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พลังงานต้องอธิบายเยอะถึงความเป็นกลาง แผน“PDP 2024”เป้าหมายอยู่ตรงไหน?

ยากอยู่เหมือนกันในการ วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (Power Development Plan : PDP) หรือที่ “แผนพีดีพี” ที่ต้องเอาไปใช้กันยาวๆ โดยเฉพาะฉบับ พ.ศ.2567-2580 หรือ PDP 2024 เนื่องจากความผันผวนของหลายปัจจัย ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านพลังงานรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมา และการเข้าสู่โหมดรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้ไทยถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2608

แผนนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นไปแล้ว เตรียมประกาศใช้ในเดือนก.ย.67 แต่ก็คงต้องปรับปรุงเป็นระยะๆ 3-5 ปีกันต่อไป โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งแผนนี้อาศัยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ วันที่ 18 มี.ค.65 ที่กำหนดค่าเฉลี่ยจีดีพี 3.1% ตั้งแต่ปี 2565-2580 เศรษฐกิจเราจะเติบโตที่อัตรานี้ใช่หรือเปล่า เพราะล่าสุดสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.5% ลดลงจากเดิม 2.7% นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่าหากมองไปข้างหน้าศักยภาพการเติบโตในระดับ 3% ของไทยถือว่าทำได้ยาก จากปัจจัยเชิงโครงสร้างภายใน อาทิ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่เรายังคงถนัดในอุตสาหกรรมเก่า ส่วนภาคการท่องเที่ยวแม้จะขยายตัวได้ดีแต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่สูงเหมือนเดิม ดังนั้นตัวเลขนี้ต้องปรับปรุงเป็นระยะ

“จีดีพี” มาพัวพันมาอย่างไรกับ “พีดีพี 2024” เพราะหัวใจของแผนนี้คือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของระบบที่จะเพิ่มถึง 56,133 เมกะวัตต์ จากพีค 36,699.9 เมกะวัตต์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย.67 มีผลต่อการนำกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปลายแผนปีพ.ศ.2580 ถึง 112,391 เมกะวัตต์ มองเผินๆใครเอาตัวเลขนี้ไปโชว์ก็ตีแตกได้หลายเวทีแล้วหักลบคิดเป็นสำรองไฟฟ้าเกือบ 50% หรือเท่าตัว

แต่ “กระทรวงพลังงาน” เลิกพูดถึง “ตัวเลขสำรองไฟฟ้า” แล้ว เพราะสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าถึง 51% นี่แหละ ที่เข้ามาเป็นตัวผลักดันให้ต้องปรับวิธีคิดใหม่ เพราะความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบของพลังานหมุนเวียนเข้าระบบจริงเท่าไหร่แน่? การคำนวณตัวเลขสำรองไฟฟ้ามาเป็นสรณะใช้ไม่ได้แล้วในหลายประเทศรวมถึงไทยเลยเปลี่ยนมาวัดกันที่หลักเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับ (LOLE) ซึ่งตามแผนเราเคาะกันไว้ที่ 0.7 วันต่อปี หรือ 16 ชั่วโมงต่อปี

ดูปลายแผน หรือ 13 ปีข้างหน้า ที่เราจะนำพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ 51% จากสัดส่วนปัจจุบัน 36% เป็นโซล่าร์มากสุดที่ 33,269 เมกะวัตต์ มากกว่าพลังงานฟอสซิลที่จะเข้าระบบอยู่ 30,497 เมกะวัตต์ มีพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นเข้าระบบอีก 22,369 เมกะวัตต์ ลมอีก 9,339 เมกะวัตต์ และอื่นๆ เช่น ซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน 16,916 เมกะวัตต์ในจำนวนนี้รวม SMR หรือนิวเคลียร์ขนาดเล็ก 600 เมกะวัตต์เข้าไปด้วย ซึ่งจะทำได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเอาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเข้ามาแทนอีก

แน่นอนว่า หากเรานำพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย ก็ใกล้แค่เอื้อมสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพราะความเข้มข้นของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2024 จะเหลือ 60 ล้านต้นต่อปีจากแผนเดิม 80-90 ล้านตันต่อปี และทำให้เรามีไฟฟ้าสีเขียวไว้รองรับนักลงทุนระดับบิ๊กของโลกระดับแสนล้านที่ถามหาจากไทยก่อนตัดสินใจมาลงทุนบ้านเรา

แต่นั่นแหละ จะปั่นไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึงครึ่งในอีก 13 ปีข้างหน้า ไม่ใช่จะเปิดรับซื้อจากเอกชนเข้าระบบแบบไม่อั้นได้ทันควัน ต้องมีแผนผลิตไฟฟ้ารองรับด้วย เนื่องจากข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่สม่ำเสมอในการให้พลังงาน เช่น แสงอาทิตย์มีช่วงเวลาผลิตไฟฟ้าเพียงบางช่วงของวัน ส่วนพลังงานลมไม่สามารถกะเกณฑ์เวลาจะลมเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าได้ตอนไหน ดังนั้นช่วงเวลาที่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้สามารถให้พลังงานได้ ก็อาจจะไม่ตรงกับเวลาที่มีความต้องการใช้พลังงาน

ต้องมี “โรงไฟฟ้าฐาน” มารองรับด้วยซึ่งในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 ประเภทหลัก คือ 1.โรงไฟฟ้าฐาน เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเดินเครื่องตลอดทั้งวัน มักเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ที่สามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตไฟฟ้า และมีต้นทุนไม่สูง 2.โรงไฟฟ้าช่วง Peak Load เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเดินเครื่องเฉพาะช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้ามากเป็นหลัก จะมีการเดินเครื่องในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยใช้พลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แต่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และมีราคาแพงกว่า

เมื่อเราต้องเจอต้นทุน 2 เด้งจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มในระบบ ซึ่งทุกอย่างจะถูกนำไปเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งจากอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) และการสร้างโรงไฟฟ้าฐานมารองรับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในส่วนของ FiT สำหรับก๊าซชีวภาพรับซื้อที่อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ลม 3.1014 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด 2.1679 บาทต่อหน่วย ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานซื้อเพิ่มสูงถึง 2.8331 บาทต่อหน่วย เพื่อปิดช่องว่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ความผันผวนของกระแสไฟฟ้าน้อยลง และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มั่นคงยิ่งขึ้น สามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริง

ในส่วนของโรงไฟฟ้าฐานที่ต้องเข้ามาในระบบนั้น ยังมีเรื่องที่ต้องรอลุ้นในแผนพีดีพี 2024 คือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะขยับหรือไม่ เพราะแผนนี้ กฟผ.จะเหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก 29% เหลือ 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผน ปี 2580 สัดส่วนที่เหลือเรารับซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชนหมด และนำเข้าจากต่างประเทศกระนั่นหรือ ตอนนี้กระทรวงพลังงานยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าสุดท้ายแล้วกฟผ.จะได้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มหรือไม่ ต้องจับตาไปที่ก้อนของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเค้กนี้จะไปอยู่ที่ใครบ้าง

แน่ๆ กฟผ.สู้รบมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ในกระบวนการร่างแผนพีดีพี 2024 เพื่อให้มีโรงไฟฟ้าที่สุราษฎร์ธานี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ดำเนินโครงการโดยกฟผ. แต่สุดท้ายไม่มีในร่างแผน เนื่องจากกระทรวงพลังงานขยี้ถึง “ต้นทุน” ท่ามกลางความอ่อนแอทางการเงินของกฟผ.จากการตรึงค่าไฟฟ้าไปแล้วร่วมแสนล้านบาท แม้ความอ่อนแอนี้จะทำตามนโยบายรัฐบาลก็ตาม แต่ก็กลับมาเป็นข้อจำกัดของรัฐวิสาหกิจอย่างกฟผ.

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

อย่างที่ “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ดกฟผ. ตั้งคำถามกับกฟผ.เสียเองว่า จะไหวไหม หากจะทำโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี “ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงนะ และยังต้องมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางยาวกว่า 100 เมตรรองรับการจัดส่งก๊าซฯ ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า อีกอย่างต้องไปศึกษารายละเอียดก่อนนะว่า จะสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซฯ หรือจะเป็นลักษณะของคลังลอยน้ำ (FSRU) อาจมีเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาได้นะ”

ล้วนเป็นข้อจำกัดที่ถูกตั้งกำแพงสูงยากจะฝ่าด่านไปได้ง่ายๆ สรุปง่ายๆคือให้เอกชนเขาทำไปดีกว่าไหม? ในพื้นที่อื่น เช่น แถบตะวันตกแถวราชบุรี แล้วดึงไฟฟ้าลงภาคใต้จะถูกกว่านะ !

เรื่องนี้กำลังงัดกันอยู่ ลำพัง “กฟผ.” อาจจะสู้ได้ยาก ต้องพึ่ง “รมว.พลังงาน” มาช่วยด้วย! เวลาก็งวดเข้ามาแล้ว ตามกำหนดแผนพีดีพี 2024 ต้องประกบกับแผนอื่นๆผนวกรวมเป็นแผนพลังงานชาติเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และครม.ตามลำดับเป้าหมาย ตามเป้าหมายจะประกาศใช้แผนพีดีพี 2024 ภายในเดือน ก.ย.67 นี้

…………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img