ผู้ค้าน้ำมัน-นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เสนอทางแก้วิกฤตหนี้แสนล้านกองทุนน้ำมันฯ ต้องเลิกอุดหนุนดีเซลทุกลิตร เน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง-รายได้น้อย และช่วยเฉพาะช่วงราคาตลาดโลกสูงหรือขาดแคลน พร้อมแยกบัญชีดีเซลเบนซิน ไม่เก็บเงินจากเบนซินไปชดเชยดีเซลลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.67 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 และกฎหมายลำดับรอง ดำเนินการโดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ดร.บุญญภัทร์ ชูเกียรติ และ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ผู้ค้าตามมาตรา 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไป โดยเข้าร่วมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้งแบบ Onsite และ Online กว่า 200 คน
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยติดลบ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 ขณะเกิดเกิดสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งทะลุระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยชดเชยสูงสุดถึง 14 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลแตะเกิน 30 บาทต่อลิตร หลังจากนั้นราคาน้ำมันตลาดโลกลดมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯได้มากขึ้นทำให้สถานะเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ปัจจุบันก็กลับมาติดลบอีก 1.1 แสนล้านบาท จึงเกิดคำถามจากหลายฝ่ายถึงการที่กองทุนฯทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันยังเป็นกลไกที่ถูกต้องหรือไม่ และกรอบที่ให้กองทุนฯมีเงินใช้ในการบริหารจัดการกองทุนฯรวมกับเงินกู้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และกู้ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาทนั้น จะต้องทบทวนหรือไม่ ขณะเดียวกันนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพลังงานด้วย จึงเป็นที่มาให้เกิดเวทีสะท้อนความเห็นจากหลายฝ่ายในวันนี้ โดยจะนำข้อสรุปจากงานวิจัยเสนอไปยังกระทรวงพลังงานภายในเดือนตุลาคม 2567 เพื่อไปสู่การปรับปรุงพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 หรือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการยกร่างใหม่
ในเวทีรับฟังความเห็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ให้กองทุนฯมีวัตถุประสงค์รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต้องนิยามให้ชัดเจนว่า “เสถียรภาพ” คืออะไร และคำว่าวิกฤตการณ์ต้องหมายถึงน้ำมันตลาดโลกราคาพุ่งสูง หรือเกิดการขาดแคลนเท่านั้น
ทั้งนี้เพราะปัจจุบันกองทุนฯไม่ได้ทำหน้าที่แก้วิกฤตแต่ไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเป็นการทั่วไป โดยอ้างเรื่องเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็รักษารายได้จากการเก็บภาษีจากน้ำมันเอาไว้ ทั้งที่กลไกภาษีสามารถนำมาช่วยลดราคาน้ำมันได้ นอกจากนี้กองทุนฯยังไปชดเชยน้ำมันชีวภาพซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันพื้นฐาน รวมถึงยังใช้วิธีเก็บเงินจากผู้ใช้เบนซินเพื่อไปชดเชยผู้ใช้ดีเซล เท่ากับทุกวันนี้กองทุนฯใช้กฎหมายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
“การเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากราคาน้ำมันเหมือนประชาชนผู้ใช้น้ำมันทุกคนเอาเงินหยอดกระปุกเอาไว้ เวลาที่น้ำมันตลาดโลกสูงก็เอากลไกนี้มาใช้ แต่ตอนนี้ปล่อยให้ราคาเบนซินไปตามตลาดโลก แต่ชดเชยดีเซล สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ใช้น้ำมัน”
ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าจากการประเมินและหลังรับฟังความเห็น พบปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ 2562 ใน 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1.แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดขึ้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 2.สถานะของกองทุนฯซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนอาจกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ 3.กรอบวงเงินของกองทุนฯที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้จะพบว่าการดำเนินงานของกองทุนฯเป็นไปตามนโยบาย และเป็นไปตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่2) ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อใกล้ต้องกู้ยืมตามกรอบให้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ถอนกองทุนฯ (Exit Strategy) และหารือเพื่อใช้มาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ระดับราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก และเริ่มดำเนินการกู้เงิน เพื่อให้กองทุนไม่ขาดสภาพคล่อง แต่ที่ผ่านมามาตรการปรับลดภาษีไม่ได้ถูกนำมาใช้ นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีสิ่งที่อาจต้องปรับแก้ไข คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนมากขึ้น สถานะของกองทุนฯอาจต้องเพิ่มกรอบวงเงินให้มีมากกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีความเห็นจากหลายฝ่ายเสนอให้กองทุนฯเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเป็นการทั่วไป แต่ให้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และรายได้น้อยแทน เพื่อลดการใช้เงินกองทุนฯ และไม่ควรมีการอุดหนุนระหว่างกลุ่ม (Cross Subsidy) หรือเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากกลุ่มน้ำมันเบนซินไปชดเชยราคาดีเซล ทั้งนี้สถาบันวิจัยฯ จะรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป และสรุปความเห็นเสนอสกนช.และกระทรวงพลังงานต่อไป