สหภาพฯ กฟผ.ยื่น 10 ข้อเสนอถึง “ พีรพันธ์” ทบทวนพีดีพี 2024 เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าของรัฐ ให้กฟผ.เดินหน้าโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเสริมความมั่นคงภาคใต้ พร้อมเร่งปรับแก้สัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนลดค่าความพร้อมจ่าย ช่วยดึงค่าไฟฟ้าต่ำลง
หลังจากแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 3 ไฟฟ้ากว่า 20 คนเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 ที่ผ่านมา ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้ยืนยันรายละเอียดเป็นหนังสือส่งให้นายพีระพันธุ์พิจารณาอีกครั้ง
โดย 10 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.ให้ทบทวนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2024 ) เนื่องจากปัจจุบันยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่มาก ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดจัดทำแผนพีดีพี 2024 โดยเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมให้รอบด้าน และทบทวนปรับปรุงแผนใหม่ 2.ทบทวนเรื่องพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การรับซื้อไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น เหมือนที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในร่างแผน พีดีพี 2024 ยังใช้แนวคิดเดิมในการพยากรณ์ คือ ใช้สัดส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ออัตราการเติบโตของจีดีพี (Electricity Elasticity :EE) ที่ประมาณ 1:1 เช่น ถ้าจีดีพีเติบโต 3.1% ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้น 3.1% แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนมีมาตรการประหยัดไฟฟ้ารูปแบบต่างๆและผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศลดลง ดังนั้นจึงควรทบทวนเรื่องการประเมินค่าจีดีพีใหม่ และใช้สัดส่วน EE ประมาณ 0.75-0.8:1 เช่น หากค่าเฉลี่ยจีดีพีใหม่อยู่ที่ 3% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.25-2.4% ซึ่งมีผลต่อการต่อการมีโรงไฟฟ้าใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
3.กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าใหม่ทยอยเข้ามาในระบบ ให้สมดุลกับกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ไม่กระทบกับโรงไฟฟ้าหลักเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อดูแลเสถียรภาพของไฟฟ้า 4.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ซึ่งช่วยผลิตไฟฟ้าป้อนให้ระบบในเวลากลางวันมีกำลังผลิตมากอยู่แล้ว มีผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศในปัจจุบันเปลี่ยนไปเกิดในช่วงเวลากลางคืน ประมาณ 3-4 ทุ่ม ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเดิมจะไม่ช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และหากมีมากเกินไปการดูแลเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าจะทำได้ยากมากขึ้น ในแผนพีดีพีใหม่ควรให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Floating Solar) ในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เป็นอันดับแรก เนื่องจากจะช่วยผลิตไฟฟ้าในเวลากลางวัน เพื่อเก็บรักษาน้ำในเขื่อนไว้ผลิตไฟฟ้าสนับสนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเวลากลางคืน เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบมีระบบแบตเตอร์รี่เพื่อเก็บกักพลังงาน (BESS) การกำหนดช่วงเวลาที่จะเปิดการรับซื้อไฟฟ้าควรให้เหมาะสมกับความพร้อมเมื่อเทคโนโลยีอยู่ตัวแล้ว โดยต้องกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าไม่สูงเกินไป เช่น ไม่ควรเกินหน่วยละ 3 บาท เพื่อช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้าในภาพรวมให้ถูกลง จากปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย
5.โรงไฟฟ้าฟอสซิลที่จะเข้าระบบใหม่ยังคงใช้ก๊าซฯ ซึ่งแหล่งก๊าซฯหลักมาจากอ่าวไทย เมียนมา และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และต่อไปการนำเข้าแอลเอ็นจีจะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาผันผวน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกลงเท่าที่ควร จะทำให้ประเทศจะเข้าสู่วัฏจักรค่าไฟสูง โดยเสนอให้ความสำคัญกับการกระจายการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งสหภาพฯระบุว่าโรงไฟฟ้าหลักที่มีต้นทุนต่ำ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หากมีกำลังผลิตมากพอจะช่วยดึงค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศให้ถูกลง
6.ทบทวนการนำก๊าซฯในอ่าวไทยที่มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ใน Pool Gas เพื่อทำให้ราคาก๊าซฯที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง และเกิดความยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซี่งข้อเสนอนี้ได้มีการปรับสูตรคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่เคยป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas
7.ทบทวนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเป็นรายภาค ซึ่งในภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืนต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ ส่วนการดึงไฟฟ้าจากภาคตะวันตกไปยังภาคใต้ให้เป็นเพียงส่วนเสริม โดยเห็นว่าสมควรให้โรงไฟฟ้าสุราษฎ์ธานีเกิดขึ้นตามแผนเดิม ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตกสำหรับทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมในพื้นที่ที่หมดอายุลง และดึงไปเสริมความมั่นคงในเขตนครหลวง
8.ทบทวนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐซึ่งดำเนินการโดยกฟผ.ที่เหลือเพียง 17% เนื่องจากโรงไฟฟ้ารัฐจะช่วยเป็นกลไกดูแลความมั่นคงและราคาค่าไฟฟ้า และช่วยกลุ่มเปราะบาง ส่วนต้นทุนโรงไฟฟ้าระหว่างรัฐและเอกชนในปัจจุบันไม่แตกต่างกัน เพราะมีกลไกกำกับดูแลต้นทุนในภาพรวมอยู่แล้ว และกฟผ.ยังช่วยส่งเงินเข้ารัฐหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
9.เจรจาทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีค่าความพร้อมจ่าย (AP) ให้ลดลงให้น้อยที่สุด 10-20 สตางค์ต่อหน่วย จาก 75-80 สตางค์ต่อหน่วย โดยดำเนินการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานคุ้มทุนแล้ว 7-10 ปี เริ่มต้นเจรจากับโรงไฟฟ้าในเครือกฟผ.และปตท.ก่อนเพื่อนำร่องก่อนใช้เป็นมาตรฐานต่อไป และทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อปรับลดค่า AP ในอนาคต