“เปรียญสิบ” เลือกพาดหัวแบบนี้มิได้หมายความว่า..ไม่สนับสนุนให้พระภิกษุ-สามเณรเล่าเรียนบาลี เพราะเรื่อง คันถะธุระ และ วิปัสสนาธุระ เป็น “หน้าที่” พื้นฐานที่พระภิกษุสามเณรทุกรูปเมื่อเข้ามาสู่ความเป็น “สมณเพศ” แล้วต้องปฎิบัติ ที่เลือกที่จะพาดหัวแบบนี้เพราะมองว่า “การศึกษาบาลี” นอกจากรักษาพระพุทธพจน์แล้ว ไม่มีประโยชน์ส่วนตนอะไร ที่ส่งผลดีต่อผู้ศึกษาเล่าเรียน
คำถามที่พวกเรา “คนวัด” พวกเรียนบาลี ถามกันมาตั้งแต่เด็กว่า เรียนจบแล้วไปทำอะไร??
หลายรูปตอนนี้ จบประโยค 9 นั่งรอกิจนิมนต์ รับสังฆทาน อยู่ในวัดเฉยๆ บางรูปไม่ได้สอนหนังสือด้วยซ้ำไป บางรูปดีหน่อย อยู่วัดใหญ่ เจ้าอาวาสมีตำแหน่งทางปกครองก็ได้ สนองงานคณะสงฆ์ไป
ทุกวันนี้ “มหาเถรสมาคม” มีข้อมูลหรือเปล่าว่า ผู้จบประโยค 9 ในประเทศไทยมีกี่รูปคน ยังครองเพศสมณเพศอยู่เท่าไรและสึกออกไปแล้วเท่าไร รวมทั้งตายไปแล้วกี่รูปคน
หลายปีก่อน..เคยได้ยินข่าว “เจ้าคุณมีชัย” พระธรรมวชิรเมธี เจ้าคณะภาค 1 วัดหงส์รัตนาราม จะรวมกลุ่มพวกจบประโยค 9 แล้วจัดตั้ง “สมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค” สุดท้าย แค่เคาะกะลาให้หมาดีใจ??
“เปรียญสิบ” มีเพื่อนหลายรูปจบเปรียญธรรมสูงๆ ไปขับรถให้วัด ไปประกอบอาชีพทำสวน ทำนา รวมทั้งหลายคนสึกออกไปแล้ว “ตกงาน” มีเพื่อนเคยมาเล่าว่า เพื่อนตกงานไม่มีทางเลือกต้องไปอยู่ “โรงเชือดไก่” แบบนี้ก็มี
“เปรียญสิบ” เคยมีประสบการณ์ตอนลาสิกขาใหม่ๆ ไปกรอกประวัติสมัครงานทำสื่อ ถูก “หัวหน้างานคนหนึ่ง” ดูถูกดูแคลนต่อหน้าว่า “เอามหามาทำไม” ต้องการคนให้มาเขียนบทโทรทัศน์ มิใช่ให้มาเขียนคำเทศน์!!
“เปรียญสิบ” โชคดีที่ “เจ้าของบริษัท” เป็นเพื่อนที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน รับไว้ แต่อาศัยความอดทน อดกลั้น และแม้!! จบเปรียญเอก แต่ก็มีปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ 2 ใบ, ปริญญาโท สาขาปรัชญาเศรษฐกิจ การเมือง เป็นเครื่องมือหากินอีกใบ
คนนอกสังคมสงฆ์มองพระเรา “โง่” ยิ่งจบบาลีมา ยิ่งไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ทันสังคม และทุกวันนี้ “ทัศนคติ” นี้ ผู้คนในสังคมหลายคนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะการศึกษาบาลีเรียน “ให้จำ” มิได้เรียนให้ “คิด” หรือค้นคว้า
การศึกษาคณะสงฆ์ต้องอย่า “เห็นแก่ตัว” มัวแต่ให้สอนรักษาพระพุทธพจน์ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นห่วงคนจบการศึกษาบาลีด้วย จบแล้วไปไหน!!
จบแล้วเป็นพระภิกษุก็ต้อง “มีงาน” มีตำแหน่งให้ หรือแม้จะลาสิกขาไปแล้วก็ควร “มอบงาน” มอบตำแหน่งให้ มิใช่ให้เป็น..แค่คนขับรถรับใช้พระ หรือทำงานในวัดเท่านั่น
ยุคสมัย “สมเด็จฟื้น” วัดสามพระยา ท่านสนับสนุนพวกเรียนบาลีมาก แม้ “สมเด็จนิยม” วัดชนะสงคราม ก็เหมือนกัน พระที่เป็น “กรรมการมหาเถรสมาคม” อย่างน้อยต้องจบ “เปรียญเอก” มิใช่เอาพวกเปรียญต่ำๆ มาเป็น หรือแม้กระทั้งการเลือกแต่งตั้งหรือเลื่อน “สมณศักดิ์” ก็ต้องเลือกจากพระจบบาลีเป็นหลักใครจบ “ประโยค 9” เห็นมีแวว มาจากจังหวัดไหน อำเภออะไร เรียกมาคุย แล้วส่งกลับให้ไปเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ในภูมิภาค ตามถิ่นกำเหนิดของตน
ทุกวันนี้..ไม่ได้เป็นดัง “จารีตประเพณี” ที่บุรพาจารย์ ท่านได้วางกฎเกณฑ์ กฎระเบียบเอาไว้
ยุคนี้ “พระบวชใหม่” หลายรูป “เดินลัด” ด้วยตั้งตนเป็น “พระเกจิ” หาเงิน หาตำแหน่ง วิ่งขอรับใช้ “เจ้าคณะปกครอง” โดยไม่ศึกษาพระธรรมวินัย สุดท้ายไปนั่งหน้า บรรดา “มหา” ทั้งหลายที่มีพรรษามากกว่าด้วยซ้ำไป
เจ้าคณะปกครองยุคนี้หลายแห่งก็ “เหลือเกิน” การให้นั่งลำดับมักเอา สมณศักดิ์และตำแหน่งปกครอง เป็นที่ตั้ง มิได้ยึดเอา “พระวินัย” ว่าด้วย “อายุพรรษา” เป็นเกณฑ์ ไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักไว้
มีแต่ “เด็กในคาถา และเด็กเส้น” ที่ก้าวหน้าในตำแหน่ง “ทางปกครองและสมณศักดิ์” บางรูปละเมิด “พระวินัย” ไม่รู้จัก “อาวุโส -ภันเต” ใครบวชก่อน บวชหลังก็มีถมไป
แล้วการศึกษาพระบาลี จะตอบโจทย์วัด “เจริญและความมั่นคง” ของศาสนาพระสมณโคดมได้อย่างไร
เพราะแม้กระทั้ง “ผู้ศึกษาและผู้รักษา” ยังไม่มีอนาคตเลย??
…………………………………………….
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]