วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเตือน‘ปชป.’ร่วมรัฐบาล=ฆ่าตัวตายครั้งที่2 ‘เทพไท’ชี้อย่าใช้มติพรรคบังคับผู้อาวุโส
- Advertisment -spot_imgspot_img

เตือน‘ปชป.’ร่วมรัฐบาล=ฆ่าตัวตายครั้งที่2 ‘เทพไท’ชี้อย่าใช้มติพรรคบังคับผู้อาวุโส

“เทพไท” เตือนปชป.ร่วมรัฐบาล = ฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2 หลังยอมเสียหลักการ เสียคำพูดของ “อภิสิทธิ์” ที่ประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.67 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.ประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “ปชป.ร่วมรัฐบาล = ฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2” มีเนื้อหาว่า…“ผมเห็นท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการอยากร่วมรัฐบาล ตั้งแต่ตอนโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และโหวตงดออกเสียงในการเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการทอดไมตรี และรักษาน้ำใจ มีความหวังลึกๆ เพื่อต้องการจะเข้าร่วมรัฐบาล

แม้ว่าวันนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาแสดงความเห็นว่า ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้ามีการประสานงานมา จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค และขอมติจากทั้ง กก.บห.พรรค และส.ส.พรรคทันที หากที่ประชุมร่วมว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น และขอย้ำว่าต้องเป็นมติพรรค และทุกคนต้องปฏิบัติตามมติพรรค เพราะตนเป็นหัวหน้าพรรคที่ยึดในหลักการของพรรค

ผมในฐานะเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ย่อมเข้าใจและอ่านเกมได้ทะลุปรุโปร่งว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะเข้าร่วมรัฐบาล จะใช้มติพรรคบังคับให้ผู้อาวุโสของพรรคปฏิบัติตาม และพยายามอย่างที่สุดที่จะเป็นรัฐบาลให้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ ที่เคยต่อสู้กับระบอบทักษิณมาเป็นเวลา 20 ปี ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้อีก ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง ครั้งที่ 2

ซึ่งครั้งแรกการฆ่าตัวตายของพรรคประชาธิปัตย์ จากการมีมติด้วยเสียง 21 ต่อ 17 เข้าร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการที่จะสร้างผลงานช่วยเหลือประชาชน โดยยอมเสียหลักการ เสียคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ต้องการจะเป็นรัฐบาล จนทำให้นายอภิสิทธิ์ ต้องลาออกจากสส. ในทันที ผลของการเป็นรัฐบาลในครั้งนั้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ จากเดิมมีสส. 52 คนลดเหลือ 25 คน จากเสียงสนับสนุน 3.9 ล้านคะแนน คงเหลือเสียงสนับสนุน 9 แสนเสียง เป็นการตกต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 78 ปีของพรรคประชาธิปัตย์

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอุดมการณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และต่อสู้ทางการเมืองมาร่วมเวลา 20 ปี แต่ในที่สุดหวังเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลต้องการเป็นรัฐมนตรี โดยไม่แคร์ความรู้สึกของผู้อาวุโสภายในพรรค มวลสมาชิกและประชาชนผู้สนับสนุน ก็อาจจะทำให้ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือเหลืออยู่เพียงน้อยนิดหายไปอีกจำนวนหนึ่ง จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก ถ้ากรรมการบริหารและสส.ชุดนี้คิดแบบนี้ ก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง และจะไม่เหลืออุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ในการต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบอย่างแน่นอน

ถ้าหากผมเป็นผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะประกาศเป็นฝ่ายค้าน ต่อสู้กับระบอบทักษิณเพื่อเรียกศรัทธาคืนมา จะเป็นหัวหอกของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจะใช้อุดมการณ์ทางการเมืองต่อสู้ในสนามเลือกตั้งมากกว่าสะสมทุน เพื่อไปซื้อเสียง ซึ่งไม่ใช่แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img